คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3201/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกภายหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นเวลาถึง 37 ปีเศษ จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เจ้ามรดกตายหรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ซึ่งต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แต่หากโจทก์ซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกันก็ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1748 แล้ว
ทรัพย์มรดกที่ดินของ ผ. เจ้ามรดกได้แบ่งปันให้แก่ ร. บ. และ ส. ทายาทของผ. และบุคคลทั้งสามดังกล่าวเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัด อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคแรก จึงถือว่าการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว และนับแต่นั้นมาย่อมถือว่า บุคคลทั้งสามครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนโจทก์ซึ่งเป็นทายาท ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งมรดกอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายอ้น ดีบัว ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางผิว ศุขสม นางผิวถึงแก่ความตายด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2499 นางผิวเป็นบุตรของนายแผน นางพลอย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 8 คน นายไกรเป็นสามีนางผิว นายไกรและนางผิวไม่มีบุตรด้วยกัน บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาและสามีของนางผิวถึงแก่ความตายไปก่อนนางผิว ทายาทของนางผิวเป็นบุตรหลานของพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนางผิว นางผิวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6147 เนื้อที่ 28 ไร่ 2 งาน 36 ตารางวา เมื่อนางผิวถึงแก่ความตายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของนางผิว โดยตกเป็นของโจทก์ 1 ใน 3 ส่วน เป็นเนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา โจทก์และทายาทอื่นได้เข้าครอบครองทำนาที่ดินมรดกตลอดมา จนกระทั่งปี 2504 โจทก์ได้ออกจากที่ดินนี้ไป นายเรือง ชมแผน และทายาทอื่นทำนาต่อโดยยังไม่ได้แบ่งปันที่ดินกัน ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม 2504 นายเรือง นางใบ ศุขสม และนายเสนชมแผน ซึ่งเป็นทายาทของนางผิวและเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินกับโจทก์ได้จดทะเบียนลงชื่อเป็นผู้รับโอนโฉนดที่ดินมรดกดังกล่าว โดยเป็นการลงชื่อทายาทผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในมรดกแทนโจทก์และทายาทอื่นซึ่งเป็นเจ้าของรวมเท่านั้น จนกระทั่งวันที่ 9 กรกฎาคม2524 มีการจดทะเบียนใส่ชื่อนายเรืองและจำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นบุตรนายเรือง เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมครั้นนายเรืองถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาของนายเรืองและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นบุตรของนายเรืองได้จดทะเบียนใส่ชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกของนางผิวดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6147 เป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมและครอบครองที่พิพาทมรดกเฉพาะส่วนของตนและแทนในส่วนของโจทก์ เช่นเดียวกับที่นายเรืองลงชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ จำเลยที่ 1ถึงที่ 9 มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมและแบ่งแยกที่ดินเป็นของโจทก์เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และแบ่งแยกส่วนของโจทก์ให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เพิกเฉยต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 10 ได้เวนคืนที่ดินโฉนดเลขที่ 6147 และจดทะเบียนแบ่งแยกเป็นของจำเลยที่ 10 เนื้อที่ 10 ไร่ 44 ตารางวา คงเหลือเนื้อที่ 18 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา ที่ดินที่มีการเวนคืนเป็นส่วนของโจทก์ 1 ใน 3 ส่วน คิดเป็นเงินค่าทดแทน 4,887,625 บาท และที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนเป็นส่วนของโจทก์ 1 ใน3 ส่วน เป็นเนื้อที่ 6 ไร่ 64 ตารางวา โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และแบ่งแยกเป็นส่วนของโจทก์ เนื้อที่ 6 ไร่ 64 ตารางวา กับให้จำเลยที่ 10 ชำระค่าทดแทนส่วนของโจทก์แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสิบเพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 6147 ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี และแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้โจทก์เนื้อที่ 6 ไร่ 64 ตารางวา หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 หรือชดใช้เงิน 18,480,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน4,887,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่นางผิวเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่โจทก์ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของนางผิวเจ้ามรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 และมาตรา 1755 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 10 ให้การว่า จำเลยที่ 10 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หากโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวโจทก์ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เอง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ชำระเงิน 2,148,392.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 6147 ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางแม่นาง (ที่ถูกอำเภอบางใหญ่) (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี ให้โจทก์เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน61.5 ตารางวา หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 10 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม นายเจริญ ชมแผน ทายาทของจำเลยที่ 1 ขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีสำหรับจำเลยที่ 10 เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นภรรยาของนายเรือง ชมแผน มีบุตร 8 คน คือจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ที่ดินพิพาทเป็นของนางผิว สุขสม หรือ ศุขสม เจ้ามรดก ซึ่งสมรสกับนายไกร แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน นายไกรถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก นางผิวเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2499 ขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย บิดามารดาและพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับเจ้ามรดกถึงแก่ความตายหมดทุกคนแล้ว คงเหลือแต่บุตรของพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับเจ้ามรดกรวม 4 คน ได้แก่โจทก์และนางฉิมซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พร้อมทั้งนายเรืองและนายเสน นอกจากนี้ยังมีนางใบซึ่งเป็นบุตรของนางเชื่อมพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับเจ้ามรดก หลังจากนางผิวเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ให้การรับว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 นายเรือง นางใบ และนายเสนเข้าครอบครองทำนาที่ดินมรดกจนถึงปี 2504 โจทก์ได้ออกจากที่ดินมรดกที่ครอบครองครั้นวันที่ 7 ธันวาคม 2504 ได้มีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกให้นายเรืองนางใบ และนายเสน ในวันเดียวกันได้มีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนให้นายเชื้อ ชื่นแขก นายเรือง นางใบและนายเสน โดยนายเชื้อถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนของนายเรือง จำนวนส่วน 6/16 และส่วนของนางใบจำนวน 1/2 ส่วน วันที่ 9 กรกฎาคม2506 นางใบขายส่วนของตนให้นายบุญมา รุ่งสว่าง วันที่ 25 พฤศจิกายน 2506 นายบุญมาขายส่วนของตนให้นางผูก ดีสวัสดิ์ วันที่ 31 มีนาคม 2509 นายเชื้อขายส่วนของตนให้นายเรือง และวันที่ 21 พฤษภาคม 2518 นางผูกขายส่วนของตนให้นายเรืองที่ดินพิพาทจึงมีเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียง 2 คน คือนายเรืองและนายเสน ต่อมานายเสนถึงแก่ความตาย นายสุรินทร์ ชมแผน ทายาทของนายเสนจึงเข้ารับมรดกเฉพาะส่วนของนายเสน และนายสุรินทร์ได้ขายเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 9 นายเรืองและจำเลยที่ 9 จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกันจนกระทั่งนายเรืองถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่19 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ตกลงรับโอนมรดกในที่ดินพิพาท โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 รับมรดกเฉพาะส่วนของนายเรือง และให้จำเลยที่ 9 คงมีกรรมสิทธิ์ในส่วนของตนเช่นเดิม ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ครั้นปี 2536 จำเลยที่ 10 เวนคืนที่ดินพิพาทบางส่วน ตามเอกสารหมาย จ.3 จ.31 และ ล.9 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ได้รับค่าทดแทนรวมทั้งสิ้น 14,700,500 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์ในฐานะทายาทของนางผิวเจ้ามรดกมีสิทธิให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของตนในที่ดินพิพาทและชดใช้เงินค่าทดแทนในส่วนของตนให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนางผิวเจ้ามรดกภายหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นเวลาถึง 37 ปีเศษ จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกซึ่งต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แต่หากโจทก์ซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน ก็ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1748 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวแล้ว ดังนั้นโจทก์จึงต้องนำสืบให้ได้ความโดยแน่ชัดว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกันและทายาทอื่นได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ปรากฏว่าในปี 2504 อันเป็นปีที่มีการโอนที่ดินพิพาทนั้นเอง มีทายาทแสดงตนเข้ารับมรดกเพียง 3 คน โดยระบุชื่อไว้อย่างชัดเจนในสารบาญแก้ทะเบียนท้ายสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ว่า ได้แก่นายเรือง นางใบ และนายเสน โดยไม่ปรากฏว่ามีชื่อโจทก์หรือแม้แต่นางฉิมที่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์ และเมื่อมีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนในวันเดียวกัน เอกสารดังกล่าวก็ระบุชื่อนายเชื้อ ชื่นแขก ซึ่งไม่ปรากฏว่าเป็นญาติฝ่ายใดของเจ้ามรดกเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะของนายเรืองจำนวน6/16 ส่วน แทนที่จะมีชื่อโจทก์และนางฉิมซึ่งเป็นทายาทที่เหลืออยู่ นอกจากนี้ที่ดินดังกล่าวได้มีการโอนขายให้แก่บุคคลภายนอกและทายาทได้ซื้อกลับเข้ามาเป็นของตนรวมทั้งมีการจดทะเบียนจำนองหลายครั้งจนในที่สุดได้กลับคืนมาเป็นของนายเรืองและจำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นบุตรนายเรือง โดยโจทก์หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือโต้แย้งคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ ที่โจทก์อ้างว่าเป็นการใช้วิธีปกปิดไม่แจ้งให้โจทก์ทราบนั้นก็ยากที่จะรับฟัง เพราะเป็นการโอนระหว่างญาติพี่น้องและจดทะเบียนอย่างเปิดเผย ซึ่งโจทก์ควรจะรู้ได้ หากเข้าใจว่าตนมีกรรมสิทธิ์และสนใจติดตามเอาคืน พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ทรัพย์มรดกที่ดินของนางผิวเจ้ามรดกได้แบ่งปันให้แก่นายเรือง นางใบและนายเสนทายาทของนางผิวเจ้ามรดกและบุคคลทั้งสามดังกล่าวเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัด อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคแรก จึงถือว่าการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2504 และนับแต่นั้นมาย่อมถือว่า นายเรือง นายเสน และนางใบครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนโจทก์ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งมรดกอีก ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์กล่าวอ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 นั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share