คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 32/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์สืบจำนวนเนื้อไม้ที่ขายให้จำเลยตามฟ้องไม่ได้ จำเลยก็ควรรับผิดตามจำนวนเนื้อไม้เท่าที่จำเลยให้การรับเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ส่งไม้สักขายให้จำเลยรวม ๖ ครั้งเป็นเนื้อไม้ทั้งหมด ๑๑ ยก ๖ วา ๔ นิ้ว คิดเป็นเงิน ๑๐,๔๐๐ บาท โจทก์ทวงถามจำเลยผลัดผ่อนเรื่อยมาขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระค่าไม้สักกับดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ๑/๒ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ฯลฯ
จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้ตกลงซื้อไม้กับโจทก์ จำเลยเป็นคนกลางติดต่อให้ผู้รับเหมากับโจทก์ตกลงกันเอง โจทก์ส่งไม้มาให้จำเลยจัดการรับแทนแล้วส่งให้ผู้รับเหมาอีกต่อหนึ่ง ไม้ที่ส่งมาไม่เกิน ๔ ยก ๓ วาราคาไม่เกิน ๑,๖๐๐ บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และฟังว่าจำเลยรับซื้อไม้จากโจทก์และเห็นว่าจำนวนไม้และราคาโจทก์จำเลยรับกันแต่จำนวนน้ำหนัก และวิธีคำนวณเป็นยกจากน้ำหนักไม่มีวิธีที่จะทำได้ โจทก์ว่ามีทั้งหมด ๑๑ ยก ๖ วา ๔ นิ้ว จำเลยรับแต่เพียง ๔ ยก ๓ วา เพื่อความเป็นธรรมก็จำเป็นต้องคำนวณโดยวิธีถัวเฉลี่ยเท่ากับ ๗ ยก ๖ วา ๕๐ นิ้ว ราคายกละ ๖๐๐ บาท เป็นเงิน ๔,๔๔๕ บาท พิพากษาให้จำเลยใช้ราคาไม้ ๔,๔๔๕ บาท ให้โจทก์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์สืบไม่ได้ความพอให้คำนวณได้ว่าไม้ที่โจทก์ส่งให้จำเลยรายนี้มีจำนวนเป็น ยก วา นิ้ว ก็ไม่อาจคำนวณเป็นราคาไม่ได้ดังฟ้อง การที่ศาลทั้งสองคำนวณโดยวิธีถัวเฉลี่ย โดยถือเอาจำนวนไม้ที่โจทก์และจำเลยโต้เถียงรวมกันแล้วมาเอาสองหารเช่นนี้ไม่มีหลักเกณฑ์อันใดเลย ดังนี้ เมื่อโจทก์สืบไม่ได้ จำเลยก็ควรรรับผิดตามจำนวนไม้เท่าที่จำเลยให้การรับคือ เป็นไม้ ๔ ยก ๓ วา ส่วนราคาไม้นั้นเห็นว่าราคายกละ ๖๐๐ บาทเป็นการสมควรแล้ว ไม้ ๔ ยก ๓ วา จึงคิดเป็นเงิน ๒,๕๑๒ บาท ๕๐ สตางค์ พิพากษาแก้ให้จำเลยให้ราคาไม้ ๒,๕๑๒ บาท ๕๐ สตางค์ ให้โจทก์ ฯลฯ.

Share