คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3199/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยประกอบกิจการธนาคาร ได้มีหนังสือเวียนแจ้งให้พนักงานทราบว่าการกู้ยืมเงินลูกค้าถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับพนักงาน และหากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษ โจทก์กู้ยืมเงินจากลูกค้าของจำเลยจำนวน 3,000 บาท และใช้คืนแล้วเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งบีบบังคับลูกค้าเพื่อให้ยอมให้กู้ยืมเงินแต่อย่างใด การกระทำของโจทก์จึงมิใช่เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เมื่อเลิกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๑๑ จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๘,๗๓๐ บาท เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๕ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๕๒,๓๘๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๕ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๕ เพราะโจทก์กระทำผิดวินัยตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ ๙ ข้อ ๕(๕) โดยขอยืมเงินจากนายสุนทร แสงพิทักษ์ ลูกค้าของจำเลยจำนวน ๓,๐๐๐ บาท เป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหายและฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายอย่างร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาโจทก์แถลงรับว่าได้กู้ยืมเงินนายสุนทรลูกค้าของจำเลยจำนวน ๓,๐๐๐ บาทจริง จำเลยแถลงรับว่าโจทก์ได้ใช้หนี้เงินยืมนายสุนทรแล้ว
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์กู้ยืมเงินลูกค้าของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย แต่คำสั่งของจำเลยมิได้กำหนดว่าเป็นกรณีร้ายแรงที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๕๒,๓๘๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามเอกสารท้ายคำให้การซึ่งเป็นหนังสือเวียนที่จำเลยกำหนดเกี่ยวกับความประพฤติให้พนักงานของจำเลยปฏิบัติในเรื่องนี้มีข้อความเพียงว่า “๒ โดยหนังสือเวียนฉบับนี้ขอเรียนให้ทราบทั่วกันว่าพฤติกรรมดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับพนักงาน ธ.ก.ส. และหากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษคือ ฯลฯ ๒.๓ การกู้ยืมเงินลูกค้า การเรียกร้องหรือแสวงหาผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนจากลูกค้า” เท่านั้น จำเลยมิได้กำหนดว่าการกู้ยืมเงินลูกค้าเป็นกรณีที่ร้ายแรงและเพียงแต่กล่าวว่าผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษ โทษหนักเบาอย่างไรไม่ปรากฏการกระทำเกี่ยวกับความประพฤติของพนักงานจำเลยที่จะถือว่าเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่นั้นต้องพิจารณาถึงลักษณะการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการร้ายแรงหรือไม่การกู้ยืมเงินกันมิใช่เป็นการกระทำอันผิดต่อกฎหมาย เป็นกรณีที่กระทำกันได้เป็นปกติธรรมดาทั่วไปประกอบกับไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่บีบบังคับลูกค้าเพื่อให้ยอมกู้ยืมเงินแต่อย่างใด จะอาศัยเหตุเพียงว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมเงินอย่างเดียวมาเป็นเครื่องชี้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นกรณีร้ายแรงหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share