คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3194/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 2 โดยผู้ร้อง มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท นับแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2528 จนกว่าจำเลยที่ 2 และบริวารจะออกไปจากที่พิพาท จึงเท่ากับศาลพิพากษากำหนดค่าเสียหาย ให้ผู้ร้องได้รับเป็นรายเดือนทุกเดือนไปจนกว่าจำเลยที่ 2จะส่งมอบที่ดินและอาคารพิพาทให้ผู้ร้อง ดังนั้น มูลหนี้รายนี้จึงสามารถแบ่งแยกกันได้ว่าค่าเสียหายเดือนใดเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ถ้าหากค่าเสียหายเดือนใดที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 2ก็ย่อมมีสิทธินำมาหักกลบลบหนี้ได้ แต่ภายหลังจำเลยที่ 2ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวในวันที่ 16 เมษายน 2529 แล้วมูลหนี้ค่าเสียหายนับแต่วันที่ 16 เมษายน 2529 เป็นต้นไปจึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่ผู้ร้องได้รับภายหลังจากมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งเข้าข้อยกเว้นตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 102ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธินำค่าเสียหายส่วนนี้มาหักกลบลบหนี้ จำเลยที่ 4 เคยฟ้องจำเลยที่ 2 กับพวกเป็นจำเลยฐานผิดสัญญา ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลมีคำสั่ง ให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยให้จำเลยที่ 4 เข้าทำ ประโยชน์ในที่ดินและอาคารพิพาทมีกำหนด 3 เดือน แต่จำเลยที่ 4 ต้องวางเงินต่อศาลชั้นต้นเดือนละ 400,000 บาท ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ไม่ได้วางเงินต่อศาลชั้นต้น ต่อมาศาลชั้นต้นได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งใหม่โดยให้บริษัทอ.และบริษัทท. เข้าทำประโยชน์มีกำหนด 3 เดือน โดยให้วางเงินต่อศาลชั้นต้นเดือนละ 200,000 บาทบริษัททั้งสองได้วางเงินเพียง 200,000 บาท และผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอรับเงินค่าตอบแทนดังกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในอาคารที่ปลูกสร้างบนที่ดินปรากฏผลคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะขอรับเงินค่าตอบแทนดังกล่าว ดังนี้ จึงเท่ากับผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าตอบแทนในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 2ไม่มีมูลหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อผู้ร้อง เพราะการที่ศาลชั้นต้นให้คู่ความในคดีวางเงินต่อศาลเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา จะผูกพันก็เฉพาะคู่ความในคดีนั้น ผู้ร้องจึงมิใช่เป็นเจ้าหนี้ในจำนวนเงินค่าตอบแทนดังกล่าวแม้มูลหนี้จะเกิดก่อนจำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องจะต้องไปว่ากล่าวเป็นกรณีต่างหาก ผู้ร้องไม่มีสิทธินำเงินค่าตอบแทนในคดีดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้ สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ได้เลิกกันในวันที่ 30 พฤษภาคม 2528 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือและผู้ร้องมีสิทธิริบเงินตามสัญญาเพียง7,000,000 บาท โดยผู้ร้องต้องคืนเงินแก่จำเลยที่ 2 จำนวน4,400,000 บาท ดังนั้นเมื่อผู้ร้องไม่คืนจึงต้องถือว่าผู้ร้องผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ผู้ร้องบอกเลิกสัญญา ผู้ร้องต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่สัญญาเลิกกันคือวันที่ 30 พฤษภาคม 2528จนกว่าชำระเสร็จ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งหกล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งหกเด็ดขาด ในการจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลยทั้งหก ผู้คัดค้านเห็นว่าผู้ร้องได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 43399 และ 43400 ซึ่งทำไว้กับจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิได้รับเงินมัดจำคืนบางส่วน เป็นเงิน 4,400,000 บาท ผู้คัดค้านจึงได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่กับจำเลยที่ 2 ผู้ร้องปฏิเสธหนี้และแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ ผู้คัดค้านสอบสวนแล้ว อนุญาตให้ผู้ร้องหักกลบลบหนี้กับเงินจำนวน 4,400,000 บาท ของจำเลยที่ 2ที่ยังคงอยู่กับผู้ร้องได้เป็นจำนวน 475,000 บาท ผู้ร้องยังคงเป็นหนี้จำเลยที่ 2 อยู่อีกเป็นจำนวน 3,925,000 บาทจึงได้มีหนังสือแจ้งยืนยันหนี้ให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน3,925,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของผู้คัดค้านต่อศาลชั้นต้นว่าเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2528 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินจากผู้ร้องรวม 2 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 43399 และ43400 เป็นเงิน 38,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 2ชำระเงินค่าซื้อที่ดินให้ผู้ร้องบางส่วนจำนวน 11,400,000 บาทต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2528 มีการแก้ไขสัญญาว่า จำเลยที่ 2จะชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ 26,600,000 บาท ให้ผู้ร้องภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2528 โดยผู้ร้องยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3เข้าปลูกสร้างอาคารในที่ดินที่จะซื้อขายได้ หากจำเลยที่ 2ผิดนัดไม่ชำระเงิน 26,600,000 บาท ภายในกำหนดให้ถือว่าสัญญาเลิกกัน จำเลยที่ 2 ยอมให้ผู้ร้องริบเงินที่ชำระแล้ว7,000,000 บาท กับยอมให้สิ่งปลูกสร้างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมออกจากที่ดินโดยจำเลยที่ 2ยอมรับเงินคืนเพียง 4,400,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้สร้างอาคารเลขที่ 1857 ในที่ดินที่จะซื้อขายแต่ครั้นถึงกำหนดที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือจำเลยที่ 2 ไม่ชำระเป็นการผิดสัญญา สัญญาจะซื้อขายจึงเลิกกันจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องออกจากที่ดินโดยส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ให้ผู้ร้อง แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิกเฉยทำให้ผู้ร้องเสียหาย ผู้ร้องจึงฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2528 ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวในคดีนี้ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2529 ผู้คัดค้านเข้าว่าคดีแทนต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2529 ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับบริวารออกจากอาคารเลขที่ 1857และที่ดินโฉนดเลขที่ 43399 และ 43400 และให้ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกจากอาคารและที่ดิน กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7374/2529 คดีดังกล่าวถึงที่สุด ผู้ร้องได้รับมอบการครอบครองที่ดินและอาคาร เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2530แต่ผู้ร้องยังไม่ได้รับชำระหนี้ค่าเสียหายตามคำพิพากษา ซึ่งคำนวณค่าเสียหายถึงวันที่ผู้ร้องได้รับมอบการครอบครองที่ดินและอาคารเป็นเงิน 1,275,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 4 กันยายน 2530 ถึงวันที่ 6 กันยายน 2533และค่าฤชาธรรมเนียมอีกจำนวน 55,795 บาท ก่อนที่ผู้ร้องจะได้รับมอบที่ดินและอาคารดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3จำเลยที่ 5 และนางจรีย์ จรูญมานะกิจ ได้ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการภัตตาคารบาร์ และสถานเต้นรำดิสโกเธค ต่อมาบุคคลดังกล่าวถูกจำเลยที่ 4ฟ้องต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10745/2529 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยให้จำเลยที่ 4 หรือตัวแทนเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคาร โดยต้องชำระเงินค่าตอบแทนเดือนละ 400,000 บาท จำเลยที่ 4เข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารเป็นเวลา3 เดือนเศษ เป็นเงิน 1,200,000 บาท ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2529 ศาลชั้นต้นได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งโดยอนุญาตให้บริษัททอปเปอร์คลับบางกอก จำกัด และบริษัทอาร์.พี.เจ. จำกัดเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารดังกล่าวโดยให้เสียค่าตอบแทนด้วยการนำเงินมาวางต่อศาลเดือนละ 200,000 บาทบริษัททั้งสองดังกล่าวครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ 3 เดือนแต่ชำระค่าตอบแทนโดยการนำเงินไปวางต่อศาลเพียงเดือนเดียวจำนวน 200,000 บาท ส่วนค่าตอบแทนอีก 2 เดือนรวม 40,000 บาท ยังไม่ชำระ เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว ผู้คัดค้านได้ร้องต่อศาลชั้นต้นขอนำเงินจำนวน 200,000 บาท ที่วางศาลรวมเช้ากองทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้า และผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกให้บริษัททั้งสองชำระค่าตอบแทนอีก 2 เดือน เป็นเงิน 400,000 บาท ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินและอาคาร ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารดังกล่าวคิดเป็นเงินจำนวน 600,000 บาท จากผู้คัดค้านและเมื่อรวมกับค่าตอบแทนที่จำเลยที่ 4 จะต้องชดใช้ให้ผู้ร้องดังกล่าวอีก1,200,000 บาท เป็นเงินรวมกันทั้งสิ้น 1,800,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เมื่อวันที่30 สิงหาคม 2533 ผู้คัดค้านได้มีหนังสือถึงผู้ร้องแจ้งว่าผู้ร้องเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 2 และให้ผู้ร้องคืนเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินบางส่วนจำนวน 4,400,000 บาท ผู้ร้องมีหนังสือปฏิเสธหนี้และแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ค่าเสียหายจำนวน 1,275,000 บาท กับค่าฤชาธรรมเนียม และค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารอีก 1,800,000 บาทรวมหนี้ต้นเงินที่ขอหักกลบลบหนี้จำนวน 3,075,000 บาทและดอกเบี้ยเป็นเวลา 4 ปี เป็นเงิน 922,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,997,500 บาท พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7374/2529 ผู้คัดค้านสอบสวนแล้วอนุญาตให้ผู้ร้องหักกลบลบหนี้กับเงินจำนวน 4,400,000 บาท ของจำเลยที่ 2ที่ยังคงอยู่กับจำเลยที่ 2 ได้เพียงจำนวน 475,000 บาทเมื่อหักกลบลบหนี้แล้วผู้ร้องคงเป็นหนี้กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2อยู่อีกจำนวน 3,925,000 บาท และมีหนังสือยืนยันจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดถึงผู้ร้องให้ผู้ร้องนำเงินจำนวน 3,925,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่29 พฤษภาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จไปชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ โดยที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 2 และได้ขอหักกลบลบหนี้ที่ผู้ร้องเป็นหนี้จำเลยที่ 2เสร็จสิ้นไปแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ใด ๆ อีกขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งหกชั่วคราวเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2529 และพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2532 ผู้ร้องได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 43399 และ 43400 แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2528 ทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิได้รับเงินมัดจำคืนบางส่วนเป็นเงิน 4,400,000 บาทผู้คัดค้านจึงได้มีหนังสือทวงถามหนี้ให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน4,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้ร้องมีหนังสือปฏิเสธหนี้และแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ต่อผู้คัดค้าน โดยนำหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7378/2529ของศาลชั้นต้น ซึ่งผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นจำเลย และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3พร้อมบริวารออกจากอาคารเลขที่ 1857 และที่ดินโฉนดเลขที่ 43399 และ 43400 กับให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (1 กรกฎาคม 2528) เป็นต้นไปจนกว่าจะออกไปเสร็จสิ้น และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องจึงขอหักกลบลบหนี้กับเงินของจำเลยที่ 2 ที่ยังคงอยู่กับผู้ร้องจำนวน 4,400,000 บาท ผู้คัดค้านเห็นว่ามูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชั่วคราวแล้วสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่สามารถนำมาหักกลบลบหนี้กับเงินของจำเลยที่ 2 นั้นจะต้องเป็นสิทธิที่ได้มาก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวผู้ร้องจึงมีสิทธินำหนี้ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาทมาหักกลบลบหนี้ได้นับแต่วันฟ้องตามที่ผู้ร้องขอจนถึงวันก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว คิดคำนวณได้เป็นเวลา 9 เดือน15 วัน เป็นเงินค่าเสียหาย 475,000 บาท ส่วนค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันที่ 16 เมษายน 2529 เป็นต้นไปกับค่าฤชาธรรมเนียมจำนวน 55,795 บาท ตามที่ผู้ร้องนำมาขอหักกลบลบหนี้ด้วยนั้น เป็นสิทธิเรียกร้องที่ผู้ร้องได้มาภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ไม่อาจจะขอหักกลบลบหนี้ได้ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483สำหรับหนี้ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารตามคดีแพ่งหมายเลขที่ 10745/2529 ของศาลชั้นต้นที่จำเลยที่ 4 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นจำเลย ในระหว่างพิจารณาคดีศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยให้จำเลยที่ 4เข้าทำประโยชน์ในที่ดินและอาคารเลขที่ 1857 ของผู้ร้องซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิในอาคารดังกล่าว และให้จำเลยที่ 4 วางเงินค่าตอบแทนเดือนละ 400,000 บาทจำเลยที่ 4 ทำประโยชน์ในที่ดินและอาคารเป็นเวลา 3 เดือนต่อมาศาลชั้นต้นได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งโดยให้บริษัทอาร์.พี.เจ.จำกัด และบริษัททอปเปอร์คลับบางกอก จำกัด เข้าทำประโยชน์แทนโดยให้วางเงินค่าตอบแทนต่อศาลเดือนละ 200,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งบริษัททั้งสองได้วางเงินค่าตอบแทนต่อศาลเพียง 200,000 บาท คงค้างชำระ 400,000 บาท ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอรับเงินค่าตอบแทนดังกล่าวจากศาล ศาลชั้นต้นยกคำร้องขณะขอหักกลบลบหนี้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาผู้ร้องขอหักกลบลบหนี้เป็นเงิน 1,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 กันยายน 2530(วันรับมอบการครอบครอง) ถึงวันที่ 6 กันยายน 2533(วันขอหักกลบลบหนี้) โดยขอหักกับเงินของจำเลยที่ 2จำนวน 4,400,000 บาท ซึ่งยังคงอยู่ที่ผู้ร้องต่อมาศาลฎีกาพิพากษาว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิจะขอรับเงินค่าตอบแทนดังกล่าวจากศาลได้ คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2534 ผู้ร้องจึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ผู้คัดค้านเห็นว่าไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องแต่เป็นเงินในกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 เพราะเป็นโจทก์ในคดีแพ่งดังกล่าว ผู้ร้องไม่มีสิทธิหักกลบลบหนี้กับเงินของจำเลยที่ 2 ที่ยังคงอยู่กับผู้ร้องได้นอกจากนี้ผู้ร้องไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันผิดสัญญา (29 พฤษภาคม 2528)เพราะผู้ร้องมิได้ขอใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตั้งแต่วันผิดสัญญาผู้ร้องขอนำหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7374/2529ของศาลชั้นต้นมาหักกลบลบหนี้ซึ่งผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (1 กรกฎาคม 2528)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นและตามคำพิพากษาดังกล่าวมิได้กำหนดจำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชำระไว้ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ ส่วนดอกเบี้ยที่ผู้ร้องจะต้องชำระแก่จำเลยที่ 2 นั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินในวันที่ 29 พฤษภาคม 2528 ณ วันดังกล่าวผู้ร้องได้ริบเงินมัดจำบางส่วนคงเหลือเงินมัดจำบางส่วนที่ต้องคืนจำเลยที่ 2 จำนวน 4,400,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่คืนให้ถือว่าผู้ร้องผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่บอกเลิกสัญญาจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญา(29 พฤษภาคม 2528) จนกว่าจะชำระเสร็จ ฉะนั้นที่ผู้คัดค้านให้ผู้ร้องหักกลบลบหนี้กับเงินจำนวน 4,400,000 บาท ของจำเลยที่ 2 ที่ยังคงอยู่ที่ผู้ร้องได้เป็นเงิน 475,000 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วผู้ร้องยังคงเป็นหนี้กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2อยู่อีกจำนวน 3,925,000 บาท และมีหนังสือยืนยันให้ผู้ร้องนำเงินจำนวน 3,925,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จมาชำระต่อผู้คัดค้านจึงชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คำสั่งของผู้คัดค้านที่ให้ผู้ร้องหักกลบลบหนี้กับเงินจำนวน 4,400,000 บาท ของจำเลยที่ 2ที่ยังคงอยู่ที่ผู้ร้องเป็นเงิน 475,000 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วผู้ร้องยังคงเป็นหนี้กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 อยู่อีกจำนวน3,925,000 บาท และมีหนังสือแจ้งยืนยันให้ผู้ร้องนำเงินจำนวน3,925,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จมาชำระต่อผู้คัดค้านชอบแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการแรกมีว่า หนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7374/2529 ของศาลชั้นต้นซึ่งผู้ร้องมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 เดือนละ 50,000 บาท ภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 ชั่วคราว คือนับแต่วันที่ 16 เมษายน 2529 ถึง วันที่ 4 กันยายน 2530 อันเป็นวันส่งมอบที่ดินและอาคารให้แก่ผู้ร้องนั้น ผู้ร้องจะนำมาหักกลบลบหนี้กับเงินจำนวน4,400,000 บาทของจำเลยที่ 2 ที่ยังอยู่กับผู้ร้องได้หรือไม่เห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังเป็นยุติได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 2 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงดังกล่าวโดยผู้ร้องมีสิทธิได้รับค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2528 จนกว่าจำเลยที่ 2 และบริวารจะออกไปจากที่พิพาท จึงเท่ากับศาลพิพากษากำหนดค่าเสียหายให้ผู้ร้องได้รับเป็นรายเดือนทุกเดือนไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะส่งมอบที่ดินและอาคารพิพาทให้ผู้ร้อง ดังนั้นมูลหนี้รายนี้จึงสามารถแบ่งแยกกันได้ว่าค่าเสียหายเดือนใดเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ถ้าหากค่าเสียหายเดือนใดที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 ก็ย่อมมีสิทธินำมาหักกลบลบหนี้ได้แต่ภายหลังจำเลยที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวในวันที่ 16 เมษายน 2529 แล้วมูลหนี้ค่าเสียหายนับแต่วันที่ 16 เมษายน 2529 เป็นต้นไป จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่ผู้ร้องได้รับภายหลังจากมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเข้าข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483 ที่ว่า สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อลูกหนี้ถ้าเกิดขึ้นภายหลังที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วจะนำมาหักกลบลบหนี้หาได้ไม่
ปัญหาประการต่อไปมีว่า เงินค่าตอบแทนที่มีผู้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินและอาคารพิพาทจำนวน 1,800,000 บาทตามที่ปรากฏในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10745/2529 ของศาลชั้นต้นนั้น ผู้ร้องมีสิทธินำมาหักกลบลบหนี้ได้หรือไม่เพียงใดพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่จำเลยที่ 4 ฟ้องจำเลยที่ 2 กับพวกเป็นจำเลยฐานผิดสัญญา ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นศาลมีคำสั่งให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยให้จำเลยที่ 4 เข้าทำประโยชน์ในที่ดินและอาคารพิพาทมีกำหนด 3 เดือน แต่จำเลยที่ 4 ต้องวางเงินต่อศาลชั้นต้นเดือนละ 400,000 บาท ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ไม่ได้วางเงินต่อศาลชั้นต้น ต่อมาศาลชั้นต้นได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งใหม่ โดยให้บริษัทอาร์.พี.เจ. จำกัด และบริษัททอปเปอร์คลับบางกอกจำกัด เข้าทำประโยชน์มีกำหนด 3 เดือน โดยให้วางเงินต่อศาลชั้นต้นเดือนละ 200,000 บาท ปรากฏว่าบริษัททั้งสองดังกล่าวได้วางเงินเพียง 200,000 บาท และผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอรับเงินค่าตอบแทนดังกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในอาคารที่ปลูกสร้างบนที่ดินปรากฏผลคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะขอรับเงินค่าตอบแทนดังกล่าว ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาเอกสารหมาย ค.6 ดังนี้จึงเท่ากับผู้ร้องหามีสิทธิเรียกร้องเงินค่าตอบแทนในคดีดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 ไม่มีมูลหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อผู้ร้องเพราะการที่ศาลชั้นต้นให้คู่ความในคดีวางเงินต่อศาลเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา จะผูกพันก็เฉพาะคู่ความในคดีนั้นผู้ร้องจึงมิใช่เป็นเจ้าหนี้ในจำนวนเงินค่าตอบแทนดังกล่าวแม้มูลหนี้จะเกิดก่อนจำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องจะต้องไปว่ากล่าวเป็นกรณีต่างหาก ผู้ร้องไม่มีสิทธินำเงินค่าตอบแทนจำนวน 1,800,000 บาท ในคดีดังกล่าวมาหักหลบลบหนี้ตามที่ผู้ร้องฎีกา
ปัญหาประการสุดท้ายที่ว่า ผู้ร้องควรเสียดอกเบี้ยนับแต่ผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้องนั้น เห็นว่า จำนวนหนี้ค่าดอกเบี้ยเกิดขึ้นสืบเนื่องจากสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ร.3 และ ร.4 ผู้ร้องนำสืบยอมรับว่าสัญญาระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ได้เลิกกันในวันที่ 30 พฤษภาคม 2528 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือและผู้ร้องมีสิทธิริบเงินตามสัญญาเพียง 7,000,000 บาทโดยผู้ร้องต้องคืนเงินแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 4,400,000 บาท ดังนั้นเมื่อผู้ร้องไม่คืนจึงต้องถือว่าผู้ร้องผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ผู้ร้องบอกเลิกสัญญา ผู้ร้องต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่สัญญาเลิกกันคือวันที่30 พฤษภาคม 2528 จนกว่าชำระเสร็จ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 ก็ยังไม่ชำระหนี้คืนทรัพย์แก่ผู้ร้องนั้นก็เป็นกรณีที่ผู้ร้องจะต้องดำเนินการบังคับคดีต่อไป สำหรับจำนวนเงินค่าเสียหายที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชดใช้จากจำเลยที่ 2 เดือนละ50,000 บาท ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7374/2529 ของศาลชั้นต้นนั้น ปรากฏว่าคดีดังกล่าวตามคำพิพากษาไม่ได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้ผู้ร้องจึงไม่มีดอกเบี้ยที่ผู้ร้องจะได้รับมาเพื่อหักกลบลบหนี้แต่อย่างใด แต่เนื่องจากผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งยืนยันหนี้เกี่ยวกับดอกเบี้ยให้ผู้ร้องรับผิดนับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2528 นั้น ไม่ถูกต้อง ความจริงสัญญาเลิกกันวันที่ 30 พฤษภาคม 2528 ดังนั้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่30 พฤษภาคม 2528 ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องชำระหนี้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตามที่ผู้คัดค้านแจ้งยืนยันหนี้จำนวน 3,925,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่30 พฤษภาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้านนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share