แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 2 โดยผู้ร้องมีสิทธิได้รับค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2528จนกว่าจำเลยที่ 2 และบริวารจะออกไปจากที่พิพาท จึงเท่ากับศาลพิพากษากำหนดค่าเสียหายให้ผู้ร้องได้รับเป็นรายเดือนทุกเดือนไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะส่งมอบที่ดินและอาคารพิพาทให้ผู้ร้อง ดังนั้น มูลหนี้รายนี้จึงสามารถแบ่งแยกกันได้ว่าค่าเสียหายเดือนใดเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ถ้าหากค่าเสียหายเดือนใดที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 2 ก็ย่อมมีสิทธินำมาหักกลบลบหนี้ได้ แต่ภายหลังจำเลยที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวในวันที่ 16 เมษายน 2529 แล้วมูลหนี้ค่าเสียหายนับแต่วันที่ 16 เมษายน2529 เป็นต้นไปจึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่ผู้ร้องได้รับภายหลังจากมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 102 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธินำค่าเสียหายส่วนนี้มาหักกลบลบหนี้
จำเลยที่ 4 เคยฟ้องจำเลยที่ 2 กับพวกเป็นจำเลยฐานผิดสัญญา ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลมีคำสั่งให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยให้จำเลยที่ 4 เข้าทำประโยชน์ในที่ดินและอาคารพิพาทมีกำหนด 3 เดือน แต่จำเลยที่ 4 ต้องวางเงินต่อศาลชั้นต้นเดือนละ 400,000บาท ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ไม่ได้วางเงินต่อศาลชั้นต้น ต่อมาศาลชั้นต้นได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งใหม่โดยให้บริษัท อ. และบริษัท ท. เข้าทำประโยชน์มีกำหนด 3 เดือน โดยให้วางเงินต่อศาลชั้นต้นเดือนละ 200,000 บาทบริษัททั้งสองได้วางเงินเพียง 200,000 บาท และผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอรับเงินค่าตอบแทนดังกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในอาคารที่ปลูกสร้างบนที่ดิน ปรากฏผลคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะขอรับเงินค่าตอบแทนดังกล่าว ดังนี้ จึงเท่ากับผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าตอบแทนในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ไม่มีมูลหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อผู้ร้อง เพราะการที่ศาลชั้นต้นให้คู่ความในคดีวางเงินต่อศาลเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา จะผูกพันก็เฉพาะคู่ความในคดีนั้น ผู้ร้องจึงมิใช่เป็นเจ้าหนี้ในจำนวนเงินค่าตอบแทนดังกล่าวแม้มูลหนี้จะเกิดก่อนจำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องจะต้องไปว่ากล่าวเป็นกรณีต่างหาก ผู้ร้องไม่มีสิทธินำเงินค่าตอบแทนในคดีดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้
สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ได้เลิกกันในวันที่ 30 พฤษภาคม 2528 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือและผู้ร้องมีสิทธิริบเงินตามสัญญาเพียง 7,000,000 บาท โดยผู้ร้องต้องคืนเงินแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 4,400,000 บาท ดังนั้นเมื่อผู้ร้องไม่คืนจึงต้องถือว่าผู้ร้องผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ผู้ร้องบอกเลิกสัญญา ผู้ร้องต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่สัญญาเลิกกันคือวันที่ 30 พฤษภาคม 2528จนกว่าชำระเสร็จ