คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เคยบริหารกิจการของจำเลยมานับแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทจำเลย ย่อมทราบว่าจำเลยมีเครื่องจักรขนาดใหญ่อยู่หลายเครื่องรวมทั้งราคาของเครื่องจักรดังกล่าวด้วยโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยเพียงไม่กี่แสนบาท จึงน่าจะมุ่งยึดเครื่องจักรที่มีราคาใกล้เคียงกับจำนวนหนี้ ประกอบกับจำเลยไม่มีปัญหาเกี่ยวกับหนี้จำนองที่จำเลยมีต่อธนาคารอื่นทั้ง ก. ซึ่งมีที่ดินที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์หลายแปลงก็เต็มใจให้โจทก์นำไปหักชำระหนี้ได้โดยที่โจทก์ไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ อีกด้วย จึงเห็นได้ว่า โจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดี อันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 284 วรรคหนึ่ง และโจทก์ต้องชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามมาตรา 284 วรรคสอง โดยคิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดแต่ไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีของจำเลยตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 407,650 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 49610 และ 49611 ตำบลแสมดำ(บางบอน) อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พร้อมโรงงานพิพาทของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษา โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดไว้เป็นเงินทั้งสิ้น 10,366,450 บาท

จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาเพียง 407,650 บาท โจทก์ทราบดีว่าจำเลยมีอุปกรณ์และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตผ้าเบรกซึ่งโจทก์สามารถนำยึดออกขายทอดตลาดและได้ราคาเพียงพอแก่การชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา แต่โจทก์กลับนำยึดที่ดินและโรงงานพิพาทซึ่งมีราคาประเมินประมาณ 20,000,000 บาท เกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดี เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมีเจตนากลั่นแกล้งจำเลยให้ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนการบังคับคดีและให้โจทก์รับผิดชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึด

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้ว แต่ไม่พบทรัพย์สินอื่นนอกจากที่ดินและโรงงานพิพาท โจทก์ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งจำเลย ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 49610 และ49611 ตำบลแสมดำ (บางบอน) อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ให้โจทก์รับผิดเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยเกินกว่าที่จำเลยแก่การบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายกศม ยูงทอง กรรมการผู้จัดการของจำเลยและเคยร่วมก่อตั้งบริษัทจำเลยมาด้วยกัน โดยโจทก์เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของจำเลยมาหลายปี เพิ่งพ้นตำแหน่งดังกล่าวไม่นานนักก่อนฟ้องคดีนี้ เพียงแต่ขณะนี้โจทก์กับนายกศมแยกกันอยู่โดยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่าเท่านั้น จึงเป็นที่ทำให้น่าสงสัยว่าโจทก์กับนายกศมมีเหตุอันเป็นอคติต่อกันหรือไม่ โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยเพียงจำนวน 407,650 บาท ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับราคาที่ดินและโรงงานพิพาทที่โจทก์นำยึดแล้วนับว่ามีราคาต่างกันมากไม่เหมาะสมกันเลย โจทก์เคยบริหารกิจการของจำเลยมานับแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทจำเลย ดังนั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยมีวิธีดำเนินการในทางธุรกิจอย่างไร มีอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าอย่างไรบ้าง มีการนำทรัพย์สินใดของจำเลยไปจำนำหรือจำนองเป็นประกันเงินกู้ที่นำมาเป็นทุนบริหารงานบ้าง เหล่านี้น่าเชื่อว่าโจทก์ย่อมรู้ดี และในการดำเนินธุรกิจนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่นักธุรกิจจะต้องรักษาไว้คือชื่อเสียงในทางการเงิน เพราะการลงทุนในการดำเนินกิจการทั้งหมดต้องอาศัยสถาบันการเงินช่วยเหลือซึ่งน่าเชื่อว่าโจทก์ก็ทราบเป็นอย่างดีจากการที่โจทก์เคยเป็นผู้บริหารกิจการของจำเลยมาก่อนหลายปีย่อมทราบว่าจำเลยมีเครื่องจักรขนาดใหญ่อยู่หลายเครื่องรวมทั้งราคาของเครื่องจักรเหล่านี้ด้วย โจทก์มีหนี้อยู่แก่จำเลยเพียงไม่กี่แสนบาท หากปราศจากอคติใด ๆ แล้วโจทก์น่าจะมุ่งนำยึดเครื่องจักรอื่นอันมีราคาใกล้เคียงกับจำนวนหนี้ที่โจทก์มีอยู่แก่จำเลยก็น่าจะเหมาะสมเพราะได้ความว่าจำเลยยังใช้เครื่องจักรดังกล่าวในการผลิตสินค้าตลอดมาจนบัดนี้ แต่การที่โจทก์มุ่งยึดทรัพย์สินดังที่ปรากฏของจำเลยเพียงประการเดียวโดยข้ออ้างที่ว่าไม่อาจเข้าไปตรวจสอบภายในโรงงานของจำเลยได้จึงไม่ทราบว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นหรือไม่นั้น นอกจากจะเป็นข้ออ้างที่ไร้เหตุผลตามกฎหมายแล้วยังเป็นการไม่เป็นธรรมแก่จำเลยอีกด้วยเพราะเป็นการทำลายอนาคตในทางธุรกิจของจำเลยโดยสิ้นเชิง ในปัจจุบันจำเลยก็ยังดำเนินการผลิตสินค้าออกสู่ท้องตลาดตามปกติและก็ยังไม่มีปัญหาเกี่ยวกับหนี้จำนองที่จำเลยกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีต่อกัน และยังได้ความตามที่ปรากฏในท้ายคำร้องของจำเลยอีกว่านายกศมมีทรัพย์สินที่เป็นที่ดินที่ถือกรรมสิทธิ์รวมกันกับโจทก์อยู่อีกหลายแปลงที่เต็มใจให้โจทก์นำไปหักชำระหนี้จำนวนนี้ได้โดยที่โจทก์ไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ อีกด้วย ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าโจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดี อันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 วรรคหนึ่ง และโจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามมาตรา 284 วรรคสอง อย่างไรก็ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น ไม่ถูกต้องศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง โดยให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดแต่ไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีของจำเลยตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมการยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายในอัตราร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึด แต่ไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share