คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 67/2490

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องอุปโภคและบริโภคนั้น อำนาจที่จะกำหนดให้สิ่งของใดๆอยู่ในความควบคุมเป็นอำนาจของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติเมื่องฟ้องโจทก์มิได้กล่าวให้ชัดว่า สิ่งของที่จำเลยมีไว้นั้นเป็นสิ่งของที่คณะกรรมการกำหนดให้อยู่ในความควบคุมแล้ว แม้จะได้บรรยายว่า คณะกรมการจังหวัดได้ประกาศควบคุมก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะคณะกรมการจังหวัดไม่มีอำนาจประกาศเช่นนั้น.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเกลือไว้ในครอบครองเป็นจำนวน ๕๓ ถัง จำเลยมีหน้าที่จะต้องไปแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บเกลือตามประกาศของคณะกรมการจังหวัดน่านซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องอุปโภคและบริโภค ฯลฯ พ.ศ. ๒๔๘๘ จำเลยฝ่าฝืนไม่ไปแจ้ง ขอให้ลงโทษ.
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยยกเหตุว่า ได้มีประกาศยกเลิกการควบคุมสิ่งของนั้นในระหว่างพิจารณาแล้ว.
โจทก์ฎีกา, ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องอุปโภคและของอื่นๆในภาวะคับขัน พ.ศ. ๒๔๘๘
มาตรา ๔, ๕ นั้น อำนาจของเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ที่คณะกรรมการแต่งตั้งขึ้นนั้น มีฉะเพาะแต่ที่จะปฏิบัติการเกี่ยวเนื่องกับสิ่งของที่อยู่ในความควบคุมแล้วเท่านั้น ส่วนการที่จะกำหนดให้สิ่งใดบ้างเป็นสิ่งของที่อยู่ในความควบคุมนั้นเป็นอำนาจของคณะกรรมการโดยฉะเพาะ พนักงานเจ้าหน้าที่หามีอำนาจที่จะกำหนดควบคุมสิ่งของใดๆเอาเองไม่ตามฟ้องโจทก์สรุปแล้วมิได้แสดงว่าคณะกรรมการควบคุมเครื่องอุปโภคและของอื่นๆได้ออกประกาศควบคุมเกลือ แต่กลับแสดงว่าคณะกรมการจังหวัดประกาศควบคุมโดยพละการตนเอง ฉะนั้นการที่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรมการจังหวัดจึงไม่เพียงพอที่จะถือว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯ ๒๔๘๘ นั้น พิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์.

Share