คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลจะวินิจฉัยว่าลูกจ้างไม่มีสิทธิเรียกร้องโบนัสและส่วนแบ่งกำไรเมื่อถูกเลิกจ้างก็ตาม แต่เมื่อการเลิกจ้างนั้นเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลย่อมมีอำนาจที่จะนำโบนัสและส่วนแบ่งกำไรมาเป็นเกณฑ์คำนวณค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 49 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย การเลิกจ้างของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างชำระ ค่าชดเชย เงินส่วนแบ่งกำไร ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขัดคำสั่งผู้จัดการหัวหน้าฝ่ายของโจทก์อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย และโจทก์ยังทุจริตในการติดต่อซื้อสินค้าเป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย พฤติกรรมของโจทก์ล้วนเป็นความผิดร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ไม่มีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งกำไร ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยแต่โจทก์ได้รับเงินดังกล่าวไปจากจำเลยแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งกำไรและโบนัส ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับดอกเบี้ยไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเพราะเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย คำขออื่นของโจทก์ให้ยกเสีย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ถึงแม้ศาลแรงงานกลางจะได้วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องโบนัสและไม่มีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งกำไร ก็เป็นเพียงกรณีโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องและไม่มีสิทธิได้รับในลักษณะที่เป็นโบนัส และในลักษณะที่เป็นเงินส่วนแบ่งกำไรเท่านั้นเอง ทั้งนี้เพราะโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างเสียก่อนทำให้โจทก์ทำงานไม่ครบ 1 ปี และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้โจทก์ขาดสิทธิอันพึงมีพึงเกิดขึ้นแก่โจทก์ไปดังนี้ ศาลจึงย่อมมีอำนาจที่จะนำโบนัสและส่วนแบ่งกำไรที่โจทก์จะควรได้ถ้าหากไม่ถูกจำเลยเลิกจ้างเสียก่อนมาเป็นเกณฑ์คำนวณเป็นค่าเสียหายได้ ถึงแม้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 จะได้บัญญัติว่า “ฯลฯ ให้ศาลแรงงานกำหนดค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้าง เมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา” ก็ตาม แต่ก็หาได้หมายความว่าการพิจารณาเรื่องค่าเสียหายของลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจำกัดอยู่เฉพาะกรณีดังกล่าวเท่านั้นไม่

พิพากษายืน

Share