คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล โดยจำเลยยอมชำระเงิน 5,624,000 บาท แก่โจทก์ ศาลพิพากษาตามยอมแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาซึ่งจะแก้ไขข้อผิดพลาดได้เมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคแรก ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 หลังจากนั้นจำเลยได้ชำระเงินแก่โจทก์เพียงบางส่วน โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จ เป็นคำร้องขอให้ศาลแก้ไขคำพิพากษาเพิ่มความรับผิดของจำเลยในส่วนของดอกเบี้ยที่จำเลยมิได้ยินยอมรับผิดหากผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดอันมิใช่คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อขัดข้องในการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี และมิใช่ข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ ดังกล่าวศาลชอบที่จะยกคำร้องดังกล่าวได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์บังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม ฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2543 ซึ่งถึงที่สุดแล้ว โดยโจทก์ได้รับชำระหนี้เงินต้นไปแล้วจำนวน 5,526,825.95 บาท ขาดอีก 97,174.05 บาท เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2547 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีเอาชำระหนี้ในส่วนของต้นเงินที่คงเหลือ 97,174.05 บาท และส่วนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,624,000 บาท นับแต่วันผิดนัดซึ่งคิดตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2543 ถึงวันที่ 17 กันยายน 2546 คิดเป็นดอกเบี้ย 1,218,533.33 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า ตามหมายบังคับคดีนั้นมิได้กำหนดในส่วนของดอกเบี้ยผิดนัดที่จำเลยต้องรับผิดไว้ด้วย หากโจทก์ประสงค์จะบังคับชำระหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยผิดนัดดังกล่าวก็ให้โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อมีคำสั่ง โจทก์จึงมายื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยผิดนัดค้างชำระจำนวน 1,218,533.33 บาท เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการบังคับคดีนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ต่อไป
จำเลยคัดค้านว่า คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุไว้ในกรณีผิดนัดแต่เพียงว่า จำเลยยินยอมชำระเงินให้โจทก์ 5,624,000 บาท หากจำเลยผิดนัดจำเลยยินยอมให้บังคับคดีได้ทันที โดยมิได้ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไว้แต่อย่างใด คำร้องของโจทก์เป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลแรงงานกลางมีข้อความสรุปได้ว่า โจทก์และจำเลยจะร่วมกันไปให้การต่อเจ้าพนักงานสรรพากรว่าจำเลยยื่นภาษีถูกต้อง ที่โจทก์เคยไปให้การว่าจำเลยหนีภาษีนั้นไม่เป็นความจริง ฯลฯ เมื่อคู่ความไปดำเนินการดังกล่าวเสร็จในระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้ว จำเลยยอมชำระเงิน 5,624,000 บาท ภายใน 7 วัน นับจากวันไปทำการดังกล่าว หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที และศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมผูกพันคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จคำขอดังกล่าวเป็นการเพิ่มความรับผิดให้จำเลยต้องรับผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่จำเลยมิได้ยินยอมรับผิดหากผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนด สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาจะแก้ไขข้อผิดพลาดได้เมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคแรก ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 คำร้องขอของโจทก์ย่อมเป็นการขอแก้ไขคำพิพากษาเพิ่มความรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย จึงมิใช่คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อขัดข้องในการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่เป็นการเพิ่มความรับผิดให้จำเลยต้องรับผิดมากขึ้น อันมิใช่ข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share