คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3191/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องว่า รับคำฟ้อง หมายเรียกส่งสำเนาให้จำเลยไม่มีผู้รับโดยชอบ และไม่มีภูมิลำเนาแห่งอื่นให้ปิดหมาย ถ้าส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ เมื่อส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยไม่ได้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องแถลงต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในรายงานการเดินหมายอีกว่าให้โจทก์แถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ ก็เป็นเพียงการยืนยันถึงคำสั่งในคำฟ้องเท่านั้น ซึ่งหากศาลชั้นต้นจะไม่มีคำสั่งในรายงานการเดินหมาย โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งในคำฟ้องอยู่เช่นเดิมโดยศาลชั้นต้นไม่จำต้องแจ้งคำสั่งในรายงานการเดินหมายให้โจทก์ทราบอีกครั้งหนึ่งแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ไม่แถลงต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดจึงถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องว่า “รับคำฟ้อง หมายเรียกส่งสำเนาให้จำเลยไม่มีผู้รับโดยชอบและไม่มีภูมิลำเนาแห่งอื่นให้ปิดหมายถ้าส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้” ต่อมาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2530 เจ้าพนักงานศาลรายงานการเดินหมายเสนอต่อศาลชั้นต้นว่าเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2530 เจ้าพนักงานศาลพร้อมด้วยผู้แทนโจทก์ได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยทั้งสองแล้วไม่พบภูมิลำเนาตามคำฟ้อง จึงส่งไม่ได้เพราะหาบ้านของจำเลยทั้งสองไม่พบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานการเดินหมายว่า “ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้”และในวันที่ 26 สิงหาคม 2530 เจ้าพนักงานศาลทำรายงานว่า โจทก์นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2530 บัดนี้ล่วงเลยเวลาที่กำหนดให้โจทก์แถลงแล้ว แต่โจทก์มิได้แถลงให้ศาลทราบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า”ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ” โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาตามข้อ 2.1 ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นในรายงานการเดินหมายฉบับลงวันที่ 17 สิงหาคม 2530ที่ว่า ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ เป็นคำสั่งที่กำหนดขึ้นใหม่ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคำสั่งในคำฟ้อง เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ทราบคำสั่งนี้จึงไม่อาจถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง พิเคราะห์แล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำฟ้องว่ารับคำฟ้อง หมายเรียกส่งสำเนาให้จำเลยไม่มีผู้รับโดยชอบและไม่มีภูมิลำเนาแห่งอื่นให้ปิดหมาย ถ้าส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ ซึ่งมีความหมายชัดแจ้งว่า ถ้าเจ้าพนักงานศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยไม่ได้ว่ากรณีใด และไม่อาจปิดหมายได้แล้ว โจทก์มีหน้าที่ต้องแถลงต่อศาลชั้นต้นภายใน 7 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ว่าโจทก์จะดำเนินการอย่างไรต่อไป แม้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในรายงานการเดินหมายฉบับลงวันที่ 17 สิงหาคม 2530 ว่า ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ ก็เป็นเพียงการยืนยันถึงคำสั่งในคำฟ้องนั้นซึ่งหากศาลชั้นต้นจะไม่มีคำสั่งในรายงานการเดินหมายดังกล่าวโจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งในคำฟ้องอยู่เช่นเดิมโดยโจทก์ไม่จำต้องทราบ หรือศาลชั้นต้นต้องแจ้งคำสั่งในรายงานการเดินหมายให้โจทก์ทราบอีกครั้งหนึ่งแต่อย่างใด ที่โจทก์ฎีกาว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในคำฟ้อง โจทก์ยังมิได้ทราบ โจทก์ไม่เคยลงชื่อรับทราบและยังไม่เคยมีการส่งคำสั่งให้โจทก์โดยชอบ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลกำหนดนั้น ปรากฏว่า โจทก์ยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม2530 โดยมีข้อความท้ายคำขอท้ายคำฟ้องแพ่งว่า “ข้าพเจ้าได้ยื่นสำเนาคำฟ้องโดยมีข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกันมาด้วย 2 ฉบับและรอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว” และทนายโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ต่อท้ายข้อความนั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำฟ้องดังกล่าวในวันนั้น ดังนี้ จึงต้องถือตามคำรับรองของโจทก์ว่า โจทก์ได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่มีคำสั่งนั้นแล้วโดยไม่จำต้องแจ้งให้โจทก์ทราบดังข้อฎีกาของโจทก์
โจทก์ฎีกาตามข้อ 2.2 ว่า การนำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องได้มีเพียงเจ้าพนักงานศาลผู้เดียวเป็นผู้ส่งโดยโจทก์หรือผู้แทนโจทก์ไม่ได้ร่วมดำเนินการด้วย ตามข้อเท็จจริงโจทก์วางเงินค่าเดินหมายล่วงหน้าไว้กับเจ้าพนักงานศาลในวันยื่นคำฟ้อง กรณีจึงไม่อาจฟังได้ว่าโจทก์หรือผู้แทนโจทก์ได้พร้อมกับเจ้าพนักงานศาลไปส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องด้วยกัน ศาลฎีกาเห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์โจทก์มิได้กล่าวอ้างความข้อนี้ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share