แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พินัยกรรมแบบธรรมดาซึ่งผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน หากมิได้ทำขึ้นตามแบบที่บทกฎหมายบังคับไว้ย่อมตกเป็นโมฆะ ปัญหาในข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนี้เมื่อเป็นข้อกฎหมายที่เกิดจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ และแม้ฟ้องโจทก์จะไม่ได้บรรยายถึงเรื่องดังกล่าวไว้ชัดแจ้ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฎีกาข้อนี้ของโจทก์ขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 30กรกฎาคม 2522 ไม่สมบูรณ์และเป็นโมฆะ ห้ามจำเลยทั้งสามทำนิติกรรมซึ่งมีผลเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อให้เกิดภาวะติดพันในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 279, 280 อยู่ในเขตหมู่ 2ตำบลบ่อถ้ำ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร
จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 279, 280 เป็นที่ดินที่นางจิบ และนายประเทืองสามีคนแรกของนางจิบร่วมกันบุกเบิกแผ้วถางมา กับยังได้ร่วมกันปลูกสร้างบ้านและยุ้งข้าวลงบนที่ดนิอีกแปลงหนึ่งด้วย หลังจากนายประเทืองตาย นายจิบได้สมรสใหม่กับนายขาว โดยนายขาวมิได้มีทรัพย์สินติดตัวมาก่อนสมรสในปี พ.ศ. 2510 นางจิบทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องคดี ในพินัยกรรมดังกล่าวยกทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ที่ 2 และตั้งโจทก์ที่ 1 ให้เป็นผู้จัดการมรดก โดยขณะนั้นนางจิบพักอาศัยอยู่ในบ้านของโจทก์ที่ 1 ต่อมาโจทก์ที่ 1 ไม่อุปการะเลี้ยงดูนางจิบจำเลยที่ 1 จึงรับนางจิบมาอุปการะ นางจิบได้เพิกถอนพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง แต่ก็ยอมให้โจทก์ที่ 1 ครอบครองเข้าทำกินในที่ดินตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองต่อไปได้ ครั้นวันที่ 30 กรกฎาคม 2522นางจิบได้ทำพินัยกรรมขึ้นอีก 1 ฉบับยกทรัพย์มรดกคือที่ดิน 2 แปลงตามที่โจทก์ฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสาม กับตั้งจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางจิบเมื่อนางจิบถึงแก่กรรม พินัยกรรมฉบับนี้มีผลโดยชอบตามกฎหมาย เพราะมีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างถูกต้องและขณะทำพินัยกรรมนางจิบมิได้มีสติฟั่นเฟือนดังฟ้อง ครั้นวันที่ 15 มิถุนายน2523 นางจิบถึงแก่กรรมลงได้มีการเปิดพินัยกรรมฉบับหลังต่อหน้าทายาทของนางจิบ โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน จำเลยทั้งสามจึงได้ขอรับโอนที่ดินทรัพย์มรดกดังกล่าวมาเป็นชื่อของจำเลยทั้งสามโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เพราะพินัยกรรมฉบับที่โจทก์อ้างถูกยกเลิกสิ้นผลไปแล้ว จำเลยทั้งสามได้ทรัพย์มรดกของนางจิบมาโดยชอบขอให้ยกฟ้องโจทก์
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม นายแกะ คำเลิศ ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 1 ขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พินัยกรรมของนางจิบ สุขเอก ฉบับลงวันที่30 กรกฎาคม 2522 เป็นโมฆะ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยทั้งสามมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบุตรของนางจิบสุขเอก กับนายประเทือง แตงกวา เมื่อนายประเทืองถึงแก่กรรมแล้วนางจิบได้สามีใหม่คือนายขาว สุขเอก มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ จำเลยที่ 3 กับนางพลอย ศรศิลป์ สำหรับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีและบุตรของนางพลอยตามลำดับ หลังจากนายขาวถึงแก่กรรมโจทก์ที่ 1 และนางพลอยได้อุปการะเลี้ยงดูนางจิบ และนางจิบได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย จ.6 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2510 ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ที่ 2 ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 นางจิบจึงไปอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 1 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน2523 โจทก์ที่ 2 ได้ขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 แต่ฝ่ายจำเลยได้คัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินอ้างว่า นางจิบได้ทำพินัยกรรมเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2522 ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยทั้งสามตามเอกสารหมาย จ.10 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.10 มีผลบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่…
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งทำขึ้นที่บ้านจำเลยที่ 1 เป็นพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น มีจำเลยที่ 1 เบิกความว่า พินัยกรรมทำขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 10 นาฬิกา พยานนั่งอยู่ใกล้ ๆ กับนายนทีและนายหยัดซึ่งเป็นพยานในการทำพินัยกรรมดังกล่าว นายนทีซึ่งเป็นผู้เขียนพินัยกรรมและเป็นพยานในพินัยกรรมนั้นด้วยเบิกความว่า พยานไปถึงบ้านจำเลยที่ 1 เมื่อเวลาประมาณ 8 นาฬิกา นายหยัดมาถึงก่อนพยานก่อนทำพินัยกรรมพยานได้ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากบ้านไป นางจิบใช้นำมันใส่ผมทาที่หัวแม่มือ แล้วลนกับเขม่าตะเกียง จากนั้นใช้ประทับบนพินัยกรรมซึ่งวางไว้บนกระป๋องตักน้ำ ส่วนนายหยัดซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมอีกคนหนึ่งเบิกความว่า พยานขึ้นบันไดบ้านจำเลยที่ 1 พร้อมนายนทีเมื่อเวลาประมาณ 11 นาฬิกา นายนทีเป็นผู้จับมือนางจิบกดลงบนหมึกในตลับที่ใช้พิมพ์ลายนิ้วมือก่อน แล้วจึงจับมือนางจิบประทับบนกระดาษพินัยกรรมเห็นว่าพยานจำเลยซึ่งอ้างว่ารู้เห็นในการทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.10 ต่างเบิกความแตกต่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำเบิกความของนายนทีกับนายหยัดผู้เป็นพยานในพินัยกรรมดังกล่าวในข้อที่ว่า นางจิบลงลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรมโดยการใช้หัวแม่มือลนกับเขม่าตะเกียงแล้วประทับบนพินัยกรรมดังคำเบิกความของนายนที หรือว่านายนทีจับมือนางจิบกดลงในตลับหมึก แล้วประทับบนพินัยกรรมดังคำเบิกความของนายหยัด ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเรื่องที่เห็นได้อย่างแจ้งชัดหากนายนทีกับนายหยัดอยู่ในเหตุการณ์ด้วยกันขณะนางจิบลงลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.10 จริงแล้วย่อมไม่มีทางที่บุคคลทั้งสองซึ่งเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านจะเบิกความขัดแข้งกันดังกล่าวมาข้างต้น ทำให้เชื่อได้ว่าขณะนางจิบลงลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.10 นั้น นายนทีหรือนายหยัดผู้เป็นพยานในพินัยกรรมคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนไม่ได้อยู่รู้เห็นด้วย และโดยที่เอกสารหมาย จ.10 เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 บัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกันดังนั้นพินัยกรรมฉบับนี้จึงมิได้ทำขึ้นตามแบบที่บทกฎหมายดังกล่าวบังคับไว้ ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705ปัญหาในข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งเป็นข้อกฎหมายที่เกิดจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ แม้ฟ้องโจทก์จะไม่ได้บรรยายถึงเรื่องดังกล่าวไว้ชัดแจ้ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฎีกาข้อนี้ของโจทก์ขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง คดีไม่จำต้องพิจารณาว่า ขณะทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.10 นั้น นางจิบผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนหรือไม่อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.10 มีผลบังคับได้ตามกฎหมายและยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่าพินัยกรรมของนางจิบ สุขเอก ฉบับลงวันที่ 30กรกฎาคม 2522 เป็นโมฆะ.