คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3186/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความยินยอมให้ทำนิติกรรมของสามีภริยาไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องให้ความยินยอมเฉพาะเรื่องเฉพาะรายจะให้ความยินยอมเป็นการล่วงหน้าและตลอดไปไม่ได้และโดยสภาพแล้วความยินยอมให้ทำนิติกรรมผู้ให้ความยินยอมสามารถให้ความยินยอมเฉพาะเรื่องเฉพาะรายหรือตลอดไปได้ หนังสือให้ความยินยอมมีข้อความว่าจำเลยยินยอมให้จ.สามีทำนิติกรรมในการกู้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีค้ำประกันและมีข้อความต่อไปอีกว่าหรือทำนิติกรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้องได้โดยจำเลยตกลงให้ความยินยอมในการกระทำนั้นตลอดไปสัญญาค้ำประกันที่จ. ทำกับโจทก์จึงมีผลใช้บังคับโดยชอบจำเลยไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผู้ปกครองทรัพย์ของนางวิไล บุญยานุตร จำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้ปกครองทรัพย์ของนายจิตดี สุวัชระกุลธรนางวิไลเป็นลูกค้าของโจทก์สาขาเลย เปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันบัญชีเลขที่ 02451-5 ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน2527 นางวิไลได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ในวงเงิน60,000 บาท มีกำหนดเวลาตามที่นางวิไลต้องการ และยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี คิดดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือนโดยมีนายจิตติและจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันนางวิไลและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจำเลยที่ 3 ได้จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันและยอมให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 3 ขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ด้วย ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2529 นางวิไลนำเงินเข้าบัญชีจำนวน 2,000 บาทต่อมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง ครบกำหนดวันบอกกล่าวนางวิไลเป็นหนี้โจทก์อยู่ 56,876.06 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 56,876.06 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินจำนองและทรัพย์อื่นออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า หนังสือให้ความยินยอมฉบับลงวันที่ 13 ตุลาคม 2526 ที่โจทก์อ้างประกอบสัญญาค้ำประกันนั้น จำเลยที่ 2 จำไม่ได้ว่าได้ทำหนังสือดังกล่าวหรือไม่ หากฟังว่า หนังสือดังกล่าวมีจริงก็เป็นหนังสือให้ความยินยอมในการทำสัญญารายอื่น โจทก์จะนำมาประกอบเป็นความยินยอมในการค้ำประกันหนี้คดีนี้หาได้ไม่ จำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจขอให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกันที่โจทก์ทำกับนายจิตดี สุวัชระกุลธร ฉบับลงวันที่27 พฤศจิกายน 2527 ขอให้ยกฟ้องและให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับนายจิตดี ฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2527
โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะมาฟ้องใหม่ภายในอายุความ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในส่วนของฟ้องแย้งในปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามหนังสือให้ความยินยอมเอกสารหมาย จ.15มีข้อความว่า “ข้าพเจ้านางเจียมจิต สุวัชระกุลธร ขอให้ความยินยอมในการที่นายจิตดี สุวัชระกุลธร ซึ่งเป็นสามีของข้าพเจ้าทำนิติกรรมใด ๆ กับธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาเลยในการกู้เงิน กู้เบิกเงินเกินบัญชี ค้ำประกัน ต่ออายุสัญญาต่าง ๆดังกล่าว ตลอดทั้งการเพิ่มวงเงินกู้ โดยยกเลิกสัญญากู้เดิมและสัญญากู้ใหม่ ขอเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิต ทำสัญญาทรัสรีซีท จำนำทำสัญญาขายลดตั๋วเงิน หรือทำนิติกรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้อง โดยข้าพเจ้าตกลงให้ความยินยอมในการกระทำนั้นตลอดไป” นั้นมีความหมายว่า จำเลยที่ 2 ได้ให้ความยินยอมให้นายจิตดีสามีทำนิติกรรมเพียงครั้งหนึ่งคราวเดียวและเป็นการให้ความยินยอมเฉพาะเรื่องเฉพาะรายเท่านั้น เพราะการให้ความยินยอมจะให้เป็นการล่วงหน้าและตลอดไปสำหรับกระทำนิติกรรมใด ๆ ย่อมไม่อาจกระทำได้ และนิติกรรมอื่นใดซึ่งเกี่ยวข้องที่จำเลยให้ความยินยอมไว้ ย่อมหมายถึงนิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาระหว่างนายจิตดีกับโจทก์ตามที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.15 ไม่มีความหมายรวมไปถึงสัญญาค้ำประกันหนี้ที่นายจิตดีทำสัญญาค้ำประกันหนี้นางวิไลต่อโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า ความยินยอมให้ทำนิติกรรมไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องให้ความยินยอมเฉพาะเรื่องเฉพาะราย จะให้ความยินยอมเป็นการล่วงหน้าและตลอดไปไม่ได้ ทั้งโดยสภาพแล้วความยินยอมให้ทำนิติกรรมนั้นผู้ให้ความยินยอมสามารถให้ความยินยอมเฉพาะรายหรือตลอดไปได้ เมื่อตามหนังสือให้ความยินยอมเอกสารหมาย จ.15มีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมให้นายจิตดีสามีทำนิติกรรมในการกู้เงิน กู้เบิกเงินเกินบัญชี ค้ำประกัน ฯลฯ และมีข้อความต่อไปอีกว่า หรือทำนิติกรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้องได้โดยจำเลยที่ 2ตกลงให้ความยินยอมในการกระทำนั้นตลอดไป จึงเห็นได้ว่า จำเลยที 2มีเจตนาให้ความยินยอมในการที่นายจิตดีสามีทำนิติกรรมที่ระบุไว้ในหนังสือให้ความยินยอมและนิติกรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ได้ตลอดไปสัญญาค้ำประกันที่นายจิตดีทำกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 จึงมีผลใช้บังคับโดยชอบ จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share