แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บ. ผู้ตายซึ่งเป็นปู่ของโจทก์ได้เลี้ยงดูช่วยเหลือเกื้อกูลโจทก์มาตั้งแต่โจทก์อายุ 7 เดือน จน บ. ถึงแก่กรรม บ. มีอำนาจส่งโจทก์ไปอยู่กับผู้อื่น ณ ที่ใดก็ได้ ยามใดมีโอกาสเลี้ยงดูโจทก์ด้วยตนเองก็รับโจทก์มาอยู่ด้วย ไม่เคยส่งโจทก์ไปอยู่กับบิดาโจทก์ถือได้ว่าโจทก์อยู่ในอุปการะของ บ. ตลอดมา โดยโจทก์จำเป็นต้องมีผู้อุปการะเพราะบิดาโจทก์ฐานะไม่ดี มารดาก็ทอดทิ้งมิได้เหลียวแล ความตายของ บ. ทำให้โจทก์เดือดร้อนเพราะขาดอุปการะโจทก์จึงเป็นผู้อยู่ในอุปการะของ บ. ผู้ตายตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญฯ มาตรา 4 และมีสิทธิจะได้รับเงินสงเคราะห์ตกทอดตาม มาตรา 44 โดยอนุโลม
โจทก์ขอรับเงินสงเคราะห์ตกทอด จำเลยปฏิเสธการจ่าย จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่จำเลยปฏิเสธการจ่าย ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายบรรจบ ปู่ของโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของนายบรรจบ ตั้งแต่อายุ 7 เดือน ต่อมานายบรรจบถึงแก่กรรมตามข้อบังคับคณะกรรมการจำเลย ทายาทของนายบรรจบมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาท การจ่ายเงินนี้ให้อนุโลมตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ เนื่องจากทายาทของนายบรรจบไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินสงเคราะห์เว้นแต่โจทก์ผู้อยู่ในอุปการะเพียงผู้เดียวตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ มาตรา 44 โจทก์ขอรับเงินสงเคราะห์แล้ว แต่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่าโจทก์ไม่ใช่อยู่ในอุปการะของนายบรรจบ ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่ผู้อยู่ในอุปการะของนายบรรจบตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ มาตรา 44 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ขณะที่โจทก์ยังเล็ก โจทก์อาศัยอยู่กับบิดา ปู่และย่าที่บ้านเดียวกัน บิดาโจทก์ประกอบอาชีพและทำงานเป็นหลักแหล่งมีรายได้แน่นอน การที่บิดาโจทก์เบิกค่าเล่าเรียนของโจทก์จากธนาคารแล้วที่ตนทำงานอยู่ใช้สอยส่วนตัวหมด มิใช่เป็นข้ออ้างว่าบิดาโจทก์มิได้เป็นผู้ชำระค่าเล่าเรียนโจทก์ส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่นายบรรจบเลี้ยงดูโจทก์ตลอดมานั้น ถือว่าดูแลเลี้ยงดูโจทก์ในฐานะปู่เลี้ยงหลานด้วยความเอ็นดู ความรัก และความสงสาร จึงเป็นการเลี้ยงดูตามหน้าที่และศีลธรรมอันดีเท่านั้น ไม่เป็นผลให้โจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตกทอด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าในวันที่29 เมษายน 2511 ที่โจทก์เกิดนั้น ฐานะของนายนพพันธ์กับนางสมมาตรบิดามารดาของโจทก์ไม่ดี ดังจะเห็นว่าคนทั้งสองต้องมาอาศัยอยู่กับนายบรรจบผู้ตายและอาชีพทำไร่กับรับจ้างของนายนพพันธ์ก็คงไม่เอื้ออำนวยที่จะเลี้ยงบุตรภริยาให้สมบูรณ์พูนสุขได้ ซึ่งจะเห็นได้จากนายนพพันธ์ต้องเปลี่ยนอาชีพไปเป็นเสมียนธนาคารกรุงไทย จำกัดโดยได้รับเงินเดือนเพียง 750 บาท ใน พ.ศ. 2514 แม้กระนั้นนายนพพันธ์กับโจทก์ก็ยังอาศัยอยู่กับนายบรรจบอยู่นั่นเอง เมื่อ พ.ศ. 2506 ขณะที่โจทก์มีอายุ 5 ปี นายบรรจบก็ส่งโจทก์จากบ้านเดิมไปให้นางเลี้ยง น้องภริยาที่เลี้ยงดูและเรียนหนังสือที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยนายบรรจบเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูและออกค่าเล่าเรียนแต่ส่งใบเสร็จรับเงินไปให้นายนพพันธ์เบิกค่าเล่าเรียนจากธนาคารกรุงไทย จำกัดที่นายนพพันธ์ทำงานอยู่ เมื่อนายบรรจบย้ายไปทำงานที่อำเภอปากช่องใน พ.ศ. 2519 จึงได้รับโจทก์มาอยู่ด้วย ครั้น พ.ศ. 2523 ย้ายไปทำงานที่สถานีรถไปชุมทางบัวใหญ่นายบรรจบก็ส่งโจทก์ไปให้นางเลี้ยงเลี้ยงดูอีก จะเห็นได้ว่านายบรรจบได้เลี้ยงดูให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลโจทก์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2511 เมื่อนายนพพันธ์กับนางสมมาตรแยกจากการเป็นสามีภริยากันขณะโจทก์มีอายุได้7 เดือน และเลี้ยงดูช่วยเหลือเกื้อกูลตลอดมาจนนายบรรจบถึงแก่กรรมเป็นเวลา13 ปี นายบรรจบมีอำนาจส่งโจทก์ไปอยู่กับผู้อื่น ณ ที่ใดก็ได้ ยามใดที่มีโอกาสจะเลี้ยงดูโจทก์อย่างใกล้ชิดด้วยตนเองก็รับโจทก์มาอยู่ด้วย มิได้ส่งโจทก์ไปอยู่กับนายนพพันธ์ซึ่งช่วงเวลา พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2524 ยังทำงานอยู่ที่ธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขาลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่ได้อยู่ในความอุปการะของนายบรรจบ ผู้ตายตลอดมา โดยโจทก์มีความจำเป็นต้องมีผู้อุปการะ เพราะนายนพพันธ์ผู้เป็นบิดามีฐานะไม่ดีและนางสมมาตร ผู้เป็นมารดาก็ทอดทิ้งมิได้เหลียวแล ความตายของนายบรรจบทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะ เนื่องด้วยนายนพพันธ์ ผู้เป็นบิดาลาออกจากงานแล้วบวชเป็นพระภิกษุ ไม่มีรายได้จะอุปการะโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้อยู่ในอุปการะของผู้ตายต้องด้วยบทนิยามของพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ มาตรา 4 และมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตกทอดตามมาตรา 44 โดยอนุโลม และตามข้อบังคับฯ แล้วที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่นายนพพันธ์ เบิกค่าเล่าเรียนได้แล้วใช้สอยเสียจนหมดต้องถือว่านายนพพันธ์เป็นผู้ชำระค่าเล่าเรียนนั้น เห็นว่า เพียงแต่การที่นายบรรจบไม่ได้ชำระค่าเล่าเรียนอย่างเดียว แล้วจะถือว่าโจทก์ไม่เป็นผู้อยู่ในอุปการะของนายบรรจบผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูช่วยเหลือเกื้อกูลสิ่งจำเป็นแก่โจทก์ทุกประการ ทั้งยังมีอำนาจเหนือตัวโจทก์ด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ