แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ฟ้องจำเลยโดยไม่นำตัวจำเลยมาส่งศาลพร้อมฟ้องและจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาลจึงสั่งไม่ประทับฟ้องและจำหน่ายคดีเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนย่อมมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา220
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,91, 265, 268, 335(1), 357 วรรคสอง ริบแผ่นป้ายทะเบียนปลอมของกลาง และนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ 7943/2534 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้อง ต่อมาปรากฏต่อศาลชั้นต้นว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนขอฝากขังครั้งสุดท้ายครบกำหนดวันที่24 เมษายน 2534 ถึงกำหนดไม่มีการขอฝากขังหรือฟ้องจำเลยต่อศาลจึงไม่มีการควบคุมจำเลยไว้ต่อไป ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2535 โดยไม่นำตัวจำเลยส่งศาลพร้อมฟ้องโดยระบุในคำฟ้องว่าจำเลยต้องขังอยู่ในคดีหมายเลขดำที่ 1922/2534หมายเลขแดงที่ 7943/2534 ของศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่า โจทก์ฟ้องจำเลยโดยไม่นำตัวจำเลยส่งศาลพร้อมฟ้อง และจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาล การที่ศาลสั่งประทับฟ้องไปจึงเป็นการสั่งโดยผิดหลง จึงให้เพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องเสีย เป็นไม่ประทับฟ้องจำหน่ายคดี
โจทก์ อุทธรณ์ คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ฟ้องจำเลยโดยไม่นำตัวจำเลยมาส่งศาลพร้อมฟ้อง และจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาล จึงสั่งไม่ประทับฟ้องและจำหน่ายคดี เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ย่อมมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มาโดยไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายก ฎีกา โจทก์