แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คำว่า “คำสั่งศาลตามวรรคสองให้เป็นที่สุด” ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ นั้น หมายถึงเป็นที่สุดทั้งสองทาง คือ ทางที่อนุญาตตามคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือยกคำร้องขอดังกล่าว ไม่ใช่เป็นที่สุดเฉพาะคำสั่งที่อนุญาตตามคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเท่านั้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,078,490.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ทบต้นถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2540 จากนั้นให้คิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นในอัตราเดียวกันถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2540 หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2540 ให้คิดอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หลังจากนั้นเป็นต้นไม่ให้คิดในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,548,567.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,200,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 กรกฎาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ให้นำที่ดิน น.ส. 3 เลขที่ 2 หมู่ที่ 3 (10) ตำบลพุคำจาน (ธารเกษม) อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี อันเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท คำขออื่นให้ยก ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน น.ส. 3 เลขที่ 2 หมู่ที่ 3 (10) ตำบลพุคำจาน (ธารเกษม) อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และขายทอดตลาดไปในราคา 1,270,000 บาท
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549 เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 2 โดยมีโจทก์เข้าสู้ราคารายเดียวและให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 1,270,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเคาะไม้ขายให้แก่โจทก์ ที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมิน 2,532,000 บาท การขายทอดตลาดให้แก่โจทก์ในราคาดังกล่าวจึงเป็นราคาที่ต่ำเกินสมควรเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลของผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคา เนื่องจากปกปิดไม่แจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ทราบ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549 ในการขายทอดตลาดทุกครั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 เข้าดูแลการขายเรื่อยมา ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินว่างเปล่าเป็นหินใช้ประโยชน์เพาะปลูกพืชไร่ไม่ได้ผลและเป็นที่ดินแห้งแล้งจึงไม่มีผู้สนใจซื้อ ทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่จัดหาผู้อื่นเข้าซื้อทรัพย์ ราคาที่โจทก์ซื้อในการขายทอดตลาดดังกล่าวเป็นราคาที่สมควรแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำสั่งศาลเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ไม่รับอุทธรณ์ คืนค่าอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ที่บัญญัติว่าคำสั่งศาลตามวรรคสองให้เป็นที่สุดนั้น หมายถึงคำสั่งที่อนุญาตตามคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเท่านั้น แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นที่สุด ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไว้ดำเนินการต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีให้ขายทอดตลาดในราคาเพียง 1,270,000 บาท เป็นราคาที่ต่ำเกินสมควร เกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลของผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคานั้น เป็นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติว่า คำสั่งศาลตามวรรคสองให้เป็นที่สุด คำว่าคำสั่งศาลตามวรรคสองให้เป็นที่สุดนั้นหมายถึงเป็นที่สุดทั้งสองทาง คือ ทางที่อนุญาตตามคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือยกคำร้องขอดังกล่าว ไม่ใช่เป็นที่สุดเฉพาะคำสั่งที่อนุญาตตามคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเท่านั้นตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณาจึงไม่ชอบ จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2549 ในขณะที่บทบัญญัติมาตรา 309 ทวิ วรรคสองและวรรคสี่ ดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2548 คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ต่อมาจึงไม่ชอบเช่นกัน ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และยกฎีกาของจำเลยที่ 2 ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแก่จำเลยที่ 2