แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาค้ำประกันตามสัญญากู้เงินฉบับแรกเป็นการค้ำประกันถึงหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสอง แต่ลักษณะของสัญญาค้ำประกันดังกล่าว เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้คือธนาคารโจทก์ ซึ่งผู้ค้ำประกันคือจำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8อาจใช้สิทธิบอกเลิกการค้ำประกันเพื่อคราวอันเป็นอนาคตต่อโจทก์ตามมาตรา 699 ได้เมื่อจำเลยที่ 6 และที่ 8 ได้มีหนังสือขอถอนการค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์แล้ว สัญญาค้ำประกันจึงเป็นอันระงับไป โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 6 และที่ 8 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญากู้เงินฉบับที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์หลังจากวันที่จำเลยที่ 6 และที่ 8 บอกเลิกการค้ำประกันไปแล้วหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินจำนวน30,000,000 บาท และได้รับเงินไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน2534 จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินจากโจทก์เพิ่มอีกจำนวน 12,000,000 บาท แต่รับเงินไป10,224,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปจากโจทก์จำนวนทั้งสิ้น 40,224,000บาท เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2532 และ จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ค้ำประกันหนี้เงินกู้ ฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534 ไว้แก่โจทก์ โดยยอมเข้าร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 ที่ 9 และที่ 10 นำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ ภายหลังทำสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับ จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ต้นเงินคืนโจทก์บางส่วนแล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์อีก โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้หลายครั้ง แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยโจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสิบแต่จำเลยทั้งสิบเพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้คืนต้นเงินจำนวน17,721,473.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.75 ต่อปี ถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน2,011,872.79 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้คืนแก่โจทก์คิดถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 19,733,346.57 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 9 และที่ 10 ในฐานะผู้จำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1ต้องร่วมรับผิดในหนี้จำนวนดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบร่วมกันชำระเงินจำนวน19,733,346.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.75 ต่อปีในต้นเงินจำนวน17,721,473.78 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสิบจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสิบไม่ชำระหนี้ ขอให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 9 คือที่ดินโฉนดเลขที่ 14478ตำบลสุริยวงศ์ อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร และยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 10คือที่ดินโฉนดเลขที่ 594 ตำบลแสนสุข (หนองบอน) อำเภอเมืองชลบุรี (บางพระ) จังหวัดชลบุรี ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วรวมเป็นเงิน39,050,000 บาท จึงเหลือเป็นหนี้ต้นเงินค้างชำระตามสัญญาเพียง 10,000,000 บาทเท่านั้น ไม่ใช่ 17,721,473.78 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ให้การทำนองเดียวกันว่า หนี้เงินกู้ตามฟ้องแม้จะมีกำหนดเวลาชำระหนี้โดยแน่ชัด แต่การปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงเงื่อนไขการชำระหนี้โดยจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้โจทก์ขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้าผู้ซื้อที่ดินพร้อมอาคารและโจทก์ปลดจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นแปลง ๆ ไป ซึ่งไม่ใช่ตามกำหนดสัญญา ดังนั้น จึงถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะชำระหนี้กันตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินตามฟ้องแต่ถือปฏิบัติการชำระหนี้ตามวิธีดังกล่าว หนี้เงินกู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการชำระต่อเนื่องหลายคราวไม่จำกัดเวลา จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ต่อมาได้ขายหุ้นและพ้นจากตำแหน่งกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 26สิงหาคม 2534 ดังนั้นหนี้ใด ๆ ของจำเลยที่ 1 ที่ได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 26 สิงหาคม2534 โดยเฉพาะหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534 โจทก์จึงเรียกร้องจากจำเลยที่ 5 ที่ 6 ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 10 ให้การว่า สัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 10 มิได้ระบุจำนวนเงินที่จำนองเป็นเงินตราไทยและมิได้ระบุเงื่อนไขข้อตกลงใด ๆ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 10 ทั้งมิได้ระบุจำนวนหนี้สัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 10 ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 และที่ 9 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันชำระเงินจำนวน 17,721,473.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.75 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งนี้การคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่ให้เกิน 2,011,872.79 บาทหากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 14478 ตำบลสุริยวงศ์ อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 594 ตำบลแสนสุข (หนองบอน) อำเภอเมืองชลบุรี (บางพระ) จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 9 และที่ 10 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม2532 จำนวนเงิน 30,000,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยโดยชำระทุกเดือนในอัตราร้อยละ13 ต่อปี กำหนดชำระเงินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 19 มกราคม 2534 ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8 จำเลยที่ 1 รับเงินจำนวน 30,000,000 บาท ไปครบถ้วนแล้วต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์เพิ่มอีก12,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี โดยชำระดอกเบี้ยทุกเดือนกำหนดชำระเงินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.39 ถึง จ.41 จำเลยที่ 1 รับเงินตามสัญญากู้เงินฉบับที่ 2 ไปแล้วเป็นเงิน10,224,000 บาท การกู้เงินตามสัญญาฉบับแรก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.27 ถึง จ.33 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินตามสัญญาฉบับที่ 2 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.52 ถึง จ.54 การกู้เงินตามสัญญาทั้งสองฉบับ จำเลยที่ 1 ที่ 9 และที่ 10 ได้นำที่ดินมาจำนองไว้เป็นประกันหนี้แก่โจทก์ด้วยปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 5ที่ 6 และที่ 8 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการกู้เงินตามสัญญากู้เงินฉบับที่ 2 ต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การกู้เงินตามสัญญาฉบับแรกจำนวนเงิน 30,000,000 บาท นั้น โจทก์มิได้มอบเงินตามสัญญากู้เงินให้แก่จำเลยที่ 1 รับไปในคราวเดียวแต่ให้จำเลยที่ 1 มาเบิกเงินไปจากโจทก์เป็นคราว ๆ หลายครั้งตามความจำเป็นของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์จะคิดดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นคราวตามวันที่จ่ายจริง มิใช่นับแต่วันทำสัญญากู้เงินทั้งหมดและแม้ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 มาขอกู้เงินจากโจทก์เพิ่มอีกเป็นครั้งที่ 2 จำนวนเงิน 12,000,000 บาท โจทก์ก็จ่ายเงินตามสัญญากู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะเดียวกันคือจ่ายให้เป็นคราว ๆ ตามที่จำเลยที่ 1 ขอเบิก ดังนั้น แม้ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ทำไว้ต่อโจทก์ฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม2532 จะมีข้อความในข้อ 1 วรรคสาม ระบุว่า “เนื่องจากการค้ำประกันตามวรรคแรกเป็นประกันหนี้ดังกล่าวข้างต้น ในจำนวนหนี้ที่มีอยู่ก่อนหรือในขณะทำสัญญานี้และ/หรือที่จะมีขึ้นใหม่ในภายหน้า ผู้ค้ำประกันและธนาคารจึงตกลงกันว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารแล้ว ถ้าตราบใดธนาคารยังมิได้มีหนังสือแจ้งว่าผู้ค้ำประกันหมดภาระผูกพันตามสัญญาค้ำประกันฉบับนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันและธนาคารตกลงให้ถือว่าสัญญาค้ำประกันรายนี้ยังคงมีผลบังคับอยู่เพื่อเป็นการค้ำประกันหนี้ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าหรือหนี้ใหม่ของลูกหนี้กับธนาคารต่อไปอีกด้วย หนี้ใหม่ดังกล่าวนี้หมายถึงบรรดานิติกรรมที่ลูกหนี้จะพึงเป็นหนี้ต่อธนาคารตามความในวรรคแรกดังกล่าวข้างต้น”อันแสดงให้เห็นได้ว่า สัญญาค้ำประกันฉบับแรกเป็นการค้ำประกันถึงหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 อันมีผลใช้บังคับต่อผู้ค้ำประกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 681 วรรคสอง ก็ตาม แต่ลักษณะของสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเห็นได้ว่า เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้คือธนาคารโจทก์ ซึ่งผู้ค้ำประกันคือจำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 อาจใช้สิทธิบอกเลิกการค้ำประกันเพื่อคราวอันเป็นอนาคตต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 699 ได้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 6 และที่ 8 ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่26 สิงหาคม 2534 ตามเอกสารหมาย ล.24 และ ล.29 ขอถอนการค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์แล้ว สัญญาค้ำประกันจึงเป็นอันระงับไป โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 6 และที่ 8 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญากู้เงินฉบับที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1ทำกับโจทก์หลังจากวันที่จำเลยที่ 6 และที่ 8 บอกเลิกการค้ำประกันไปแล้วหาได้ไม่สำหรับจำเลยที่ 5 นั้น แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 5 ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ไปก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ฉบับที่ 2 แต่จำเลยที่ 5 เพิ่งมีหนังสือบอกเลิกการค้ำประกันเงินกู้จำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม2535 ตามเอกสารหมาย ล.27 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินฉบับที่ 2กับโจทก์แล้วจำเลยที่ 5 จึงยังคงต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันต่อโจทก์ในหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินครั้งที่ 2 ของจำเลยที่ 1 ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 6 และที่ 8 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,497,473.78บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์