แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ได้ไปปรึกษาจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับเรื่องจะว่าจ้างทนายความในการดำเนินการขายที่ดิน จำเลยที่ 3ได้พาไปหา ส. ซึ่งเป็นญาติทำงานอยู่ที่สำนักงานทนายความแล้วจึงได้มีการจ้างทนายความที่สำนักงานทนายความนั้นให้เขียนสัญญาซื้อขายและจำเลยที่ 3 เป็นเพียงพยานในสัญญาซื้อขายเท่านั้นส่วนการดำเนินการขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2กับทนายความของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการ เมื่อจำเลยที่ 3ไม่ได้เป็นผู้ออกอุบายและร่วมตกลงใจให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการดังกล่าว แต่เป็นเรื่องที่เป็นการกระทำอันเกิดแต่เจตนาของจำเลยที่ 2 เองมาตั้งแต่แรก เพียงแต่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างใดจึงต้องให้ทนายความช่วยดำเนินการให้ ส่วนการที่จำเลยที่ 3ไปรับเงินจากโจทก์ที่ 3 มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ไปรับเงินเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 3 เอง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นลุงใช้ให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหลานช่วยไปรับเงินแทนเท่านั้นดังนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะกระทำละเมิดต่อโจทก์ก็จะฟังว่าจำเลยที่ 3มีส่วนร่วมในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วยไม่ได้ ค่าเสียหายจากการขาดกำไรในการขายที่ดินพิพาทที่โจทก์เรียกร้องมาเป็นเรื่องอนาคตยังไม่แน่นอน โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า เดิมนางเอิบ คุ้มภัยหรือคุ้มไพเป็นภรรยานายสาครหรือคอน ขุนประชา หลังจากนายสาครถึงแก่กรรม นางเอิบได้จำเลยที่ 2 เป็นสามี และก่อนนางเอิบถึงแก่กรรมประมาณ 10 ปี นางเอิบได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3152 และ3153 ให้นายประจวบ ขุนประชา ซึ่งเป็นบุตร แต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นายประจวบกับจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ร่วมกันใช้อุบายหลอกลวงฉ้อฉลกระทำละเมิดต่อโจทก์กล่าวคือ เมื่อประมาณกลางปี 2528 นายประจวบจงใจหรือประมาทเลินเล่อมอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงโดยการครอบครอง และนำคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 โดยนายประจวบไม่ได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ครั้นวันที่ 4 พฤศจิกายน 2528 จำเลยที่ 2 ขายที่ดินทั้งสองแปลงนั้นให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 สมรู้กับจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 นายประจวบฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยโดยเรียกโจทก์ที่ 3เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลง ระหว่างพิจารณานายประจวบถึงแก่กรรมจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนและในที่สุดศาลพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ส่งมอบที่ดินและโฉนดให้แก่จำเลยที่ 1การกระทำของนายประจวบ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้างต้นทำให้โจทก์เสียหายคือค่าปรับปรุงที่ดิน 40,000 บาท ค่าขาดกำไรจากการขายที่ดิน 1,400,000 บาท เงินค่าที่ดินที่ซื้อมา 168,000 บาทรวมเป็น 1,608,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,608,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายประจวบ ขุนประชา ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หลอกลวงโจทก์ทั้งสี่ ขณะที่จำเลยที่ 2ขายที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 นายประจวบบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดตรีญาติไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว เมื่อนายประจวบทราบเรื่องก็แจ้งอายัดที่ดินไว้ทันทีนายประจวบไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อยอมส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ดังฟ้อง ความจริงนายประจวบไปทำงานต่างจังหวัดได้ฝากโฉนดที่ดินไว้กับนายทองน้องมารดาจำเลยที่ 2 ทราบจึงหลอกเอาโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจากนายทองและเหตุที่นายประจวบไม่ร้องคัดค้านขณะที่จำเลยที่ 2 ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้ก็เพราะนายประจวบไม่ทราบเรื่องมาก่อน นอกจากนี้นายประจวบยังฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นฐานเบิกความเท็จด้วย นายประจวบจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้เรียกพันตำรวจตรีชาตรี สุวรรณภักดี และนางวันวิสาข์ มงคลนาวิน ทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 168,000 บาทแก่โจทก์ทั้งสี่พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ และจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดในค่าเสียหายสำหรับค่าปรับปรุงที่ดินจำนวน 40,000 บาท และค่าขาดกำไรจากการขายที่ดินพิพาทจำนวน 1,400,000 บาท ต่อโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหลานของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปปรึกษาจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับเรื่องจะว่าจ้างทนายความที่ไหนในการดำเนินการขายที่ดิน จำเลยที่ 3ได้พาไปหานางสาวสุภาพ ซึ่งเป็นญาติทำงานอยู่ที่สำนักงานทนายความแสงทอง แล้งจึงได้มีการจ้างทนายความที่สำนักงานทนายความแสงทองให้เขียนสัญญาซื้อขายและจำเลยที่ 3เป็นเพียงพยานในสัญญาซื้อขายเท่านั้น ส่วนการดำเนินการขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 กับทนายความของจำเลยที่ 2เป็นผู้ดำเนินการ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงโดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 3เป็นผู้ออกอุบายและร่วมตกลงใจให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่เป็นการกระทำอันเกิดแต่เจตนาของจำเลยที่ 2 เองมาตั้งแต่แรก เพียงแต่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างใดจึงต้องให้ทนายความช่วยดำเนินการให้ ส่วนการที่จำเลยที่ 3ไปรับเงินจากโจทก์ที่ 3 จำนวน 10,000 บาท นั้นโจทก์ที่ 3 เองก็ได้เบิกความว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ให้จำเลยที่ 3 ไปเอาเงินจากโจทก์ที่ 3 จึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ไปรับเงินเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 3 เอง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลุงใช้ให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหลานช่วยไปรับเงินแทนเท่านั้น จึงจะฟังว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วยไม่ได้จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายทั้งหลายตามที่โจทก์ฟ้อง
ส่วนค่าเสียหายจากการขาดกำไรในการขายที่ดินพิพาทที่โจทก์เรียกร้องมาจำนวน 1,400,000 บาท นั้น เห็นว่าค่าเสียหายเรื่องขาดผลกำไรเป็นเรื่องอนาคตยังไม่แน่นอนโจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ให้ค่าเสียหายทั้งสองประการดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน