แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การรับสภาพหนี้เป็นการที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้แต่ในสัญญาผ่อนชำระหนี้ที่พิพาท จำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้โจทก์ จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ แต่จำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายช่วงโดยรับซื้อสุราจาก ร.อีกทอดหนึ่ง ในการทำสัญญาผ่อนชำระหนี้ที่พิพาทที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับว่าได้เป็นหนี้ค่าซื้อสุราจากโจทก์จำนวน 12,310,575 บาท และตกลงผ่อนชำระหนี้อันเนื่องมาจากโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ได้ทำการเจรจาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งมิใช่ลูกหนี้ของโจทก์ได้ยอมรับว่าได้เป็นหนี้ค่าซื้อสุราจากโจทก์เป็นเงินจำนวนดังกล่าวสัญญาผ่อนชำระหนี้ที่พิพาทจึงมิใช่การรับสภาพหนี้ แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งคู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมาย ย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และหนี้ตามสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ ก็ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมหาใช่มีอายุความ 2 ปี ตามมูลหนี้บุคคลผู้เป็นพ่อค้าเรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของอันเป็นมูลหนี้เดิมไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2528 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2530 ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมมิตรการสุราซึ่งเป็นผู้ขายสุราของโจทก์ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ซื้อสุราชนิดต่าง ๆจากโจทก์ไปเพื่อจำหน่ายต่อหลายครั้งรวมเป็นเงิน 27,794,953 บาทแต่ยังไม่ได้ชำระ จากการตรวจสอบปรากฏว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมมิตรการสุราเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 นายชัยยงค์มหาพัฒนกุล และนายวิรัช มหาคุณ ซื้อสินค้าเชื่อของโจทก์ไปโดยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์ที่ให้ขายสุราด้วยเงินสดเท่านั้น โจทก์จะดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องดังกล่าว แต่ได้มีการประนีประนอมยอมความกันโดยนายชัยยงค์ยอมรับชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 12,355,210 บาท นายวิรัชยอมชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 2,332,168 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกหนี้ด้วยโดยยอมรับว่าได้เป็นหนี้ค่าซื้อสุราจากโจทก์ผ่านห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมมิตรการสุราคิดถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2529 เป็นเงิน12,310,575 บาท มีการเจรจาต่อรองหลายครั้งในที่สุดโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงผ่อนผันให้แก่กันได้ โดยจำเลยที่ 1และที่ 2 จะผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่เดือนมกราคม 2530 ถึงเดือนธันวาคม 2531 เดือนละ 200,000 บาท โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยงวดแรกเป็นเงิน 400,000 บาท ชำระภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2530 ต่อไปเดือนละ 200,000 บาท ทุกสิ้นเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2530 เป็นต้นไป และตั้งแต่เดือนมกราคม 2532เป็นต้นไปชำระเดือนละ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ในต้นเงินค้างชำระคิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2530โดยคิดจากต้นเงินที่ลดลงด้วยการหักจากเงินผ่อนชำระในแต่ละเดือนจนกว่าจะครบ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดเดือนหนึ่งเดือนใดให้ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดทั้งหมดและยอมให้โจทก์ฟ้องบังคับชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้ทันที่ จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แก่โจทก์ในวงเงิน 6,000,000 บาท ต่อมาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2530 จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 546 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในวงเงิน 6,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงอีกว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ยอมรับผิดใช้เงินที่ขาดให้แก่โจทก์จนครบ ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินที่ค้างจำนวน 12,310,575 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วัน 1 มกราคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,924,229บาท โดยให้จำเลยที่ 3 รับผิดในหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์เป็นเงิน6,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 600,000 บาท หากจำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ชำระ ก็ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 6,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 6,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ส่วนที่ขาดจนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การกับจำเลยที่ 3 ฟ้องแย้งว่า โจทก์ประกอบธุรกิจในการผลิตสุราจำหน่ายในประเทศ และได้แต่งตั้งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมมิตรการสุราเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราที่โจทก์ผลิตขึ้นทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายช่วงโดยสั่งซื้อสุราจากห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมมิตรการสุราต่อมาปลายปี 2529 โจทก์ได้ยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายของห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมมิตรการสุราและได้เสนอให้จำเลยที่ 1ตัวแทนจำหน่ายสุราของโจทก์โดยมีเงื่อนไขว่า จำเลยที่ 1 จะต้องทำสัญญาผ่อนชำระหนี้ จำเลยที่ 3 จะต้องทำสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนอง ตามเอกสารท้ายฟ้องขึ้นมาหลอก ๆ เพื่อยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ก่อน โจทก์จึงจะแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่การประกอบธุรกิจการค้าจึงตกลงทำตามเงื่อนไขที่โจทก์เสนอ โจทก์จึงได้จัดทำหนังสือรับสภาพหนี้และนำจำเลยที่ 3 มาเป็นผู้ค้ำประกันทั้งจำเลยที่ 3 ยังได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 546 จดทะเบียนจำนองให้ไว้เป็นประกันต่อโจทก์เป็นเงิน 6,000,000 บาท ต่อมาโจทก์ผิดสัญญาไม่แต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสุรา ดังนั้นสัญญารับสภาพหนี้ สัญญาค้ำประกัน และสัญญาจำนองจึงเป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นจากกลฉ้อฉลของโจทก์ ย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ดังฟ้อง หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้จากการซื้อขาย มีอายุความฟ้องร้อง 2 ปี ดังนั้น นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 2 ปี แล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความจำเลยที่ 2 ไม่เคยเชิดให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมมิตรการสุราเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ร่วมกับนายชัยยงค์ มหาพัฒนกุล และนายวิรัช มหาคุณ และไม่เคยร่วมกันเจรจาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ หากโจทก์จะมีหนี้สินทางการค้าก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมมิตรการสุราโดยตรง จำเลยที่ 2จึงไม่มีหนี้สินที่จะต้องชำระให้แก่โจทก์ สัญญาผ่อนชำระหนี้เป็นสัญญาที่ไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่จะต้องชำระแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง และให้บังคับโจทก์ปลดภาระตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่ดินแก่จำเลยที่ 3โดยไปจดทะเบียนปลดจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 546 ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ว่า สัญญาประนีประนอมยอมความผ่อนชำระหนี้ สัญญาค้ำประกัน และสัญญาจำนองที่ดินเป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นจากการตกลงยินยอมของจำเลยทั้งสามจึงเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 12,310,575 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 3ผิดนัดชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 6,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการผลิตและจำหน่ายสุรา โจทก์แต่งตั้งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมมิตรการสุราเป็นผู้ขายส่งสุราของโจทก์ในเขตกรุงเทพมหานคร ต่อมาปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมมิตรการสุราเป็นหนี้โจทก์จำนวน 27,794,953บาท ซึ่งนายชัยยงค์ มหาพัฒนกุล ยอมรับชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 12,355,210 บาท นายวิรัช มหาคุณ ยอมชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 2,332,168 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาผ่อนชำระหนี้โดยยอมรับว่าเป็นหนี้ค่าซื้อสุราจากโจทก์ เป็นเงิน 12,310,575 บาทตามเอกสารหมาย จ.16 จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันในการปฏิบัติการชำระหนี้ดังกล่าว ตามสัญญาและจำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 546 พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 6,000,000บาท คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2ประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า สัญญาผ่อนชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.16 หาใช่สัญญารับสภาพหนี้ไม่ เนื่องจากการรับสภาพหนี้เป็นการที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้แต่ในสัญญาผ่อนชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้โจทก์จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบยอมรับว่าได้เป็นหนี้ค่าซื้อสุราจากโจทก์จำนวน 12,310,575 บาท และตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นการเจือสมกับข้อที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบต่อมาว่าโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องแต่ได้ทำการเจรจาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับว่าได้เป็นหนี้ค่าซื้อสุราจากโจทก์เป็นเงินจำนวนดังกล่าวสัญญาผ่อนชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.16 จึงมิใช่การรับสภาพหนี้แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งคู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมาย ย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และเมื่อหนี้ตามสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ ก็ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมหาใช่มีอายุความ 2 ปี ตามมูลหนี้บุคคลผู้เป็นพ่อค้าเรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของอันเป็นมูลหนี้เดิมไม่ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาผ่อนชำระหนี้ลงวันที่ 19กุมภาพันธ์ 2530 เอกสารหมาย จ.16 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม2533 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2532 การฟ้องคดีโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาดังกล่าวจึงยังไม่เกิน 10 ปี คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ