คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3175/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดได้จ่ายค่าจ้างแรงงานให้แก่ลูกจ้างโดยมิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อเอกสารที่เป็นหลักฐานการจ่ายค่าแรงงาน ไม่ปรากฏสถานภาพของลูกจ้างโจทก์ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้หรือไม่ โจทก์จะถือว่าลูกจ้างที่มีรายได้จากโจทก์มีรายได้ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ จึงไม่จำต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายไว้ ย่อมไม่ถูกต้องเพราะการที่จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ต้องดู จากรายได้ทั้งหมดของลูกจ้างแต่ละคนเมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานนำมาพิสูจน์ให้เห็นว่าลูกจ้างโจทก์มีเงินได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โจทก์จึงต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้โจทก์รับผิดชำระเงินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย ตามเอกสารเลขที่390/2530/2 ลงวันที่ 25 กันยายน 2530 กับให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย เลขที่1049/1/44297 ลงวันที่ 30 เมษายน 2523
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ เฉพาะเรื่องการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังยุติว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2512-2525 โจทก์ได้จ่ายค่าจ้างแรงงานให้แก่ลูกจ้างโดยมิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11 ต่อมานายสถิตย์ พรหมสุทธิ กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ได้ยินยอมให้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรม หัก ณ ที่จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 3 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 232ถึง 236 ศาลฎีกาเห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.9 – จ.11 แม้จะฟังว่าเป็นหลักฐานการจ่ายเงินค่าแรงงานให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ แต่ก็ไม่ปรากฏถึงสถานภาพของบุคคลเหล่านั้น ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้หรือไม่ โจทก์จะถือว่าลูกจ้างที่มีรายได้จากโจทก์ทุกคนมีรายได้ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ จึงไม่จำต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายไว้นั้นไม่ถูกต้อง เพราะการที่จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่นั้นต้องดูจากรายได้ทั้งหมดแต่โจทก์ไม่มีหลักฐานในเรื่องนี้แต่ประการใด อีกประการหนึ่งนายพิสุทธิ์กรรมการผู้จัดการของโจทก์ เคยให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมินโดยยินยอมเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีพิพทนี้เป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 3 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 หน้า 232-236 แต่โจทก์กลับไม่ยอมเสีย โดยไม่มีพยานหลักฐานนำมาพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าลูกจ้างของโจทก์ดังกล่าวมีเงินได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้นโจทก์จึงต้องรับผิดในการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย คำพิพากษาฎีกาที่ 2272/2530ที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์นั้น เป็นเรื่องที่ยังไม่มีการพิสูจน์กันว่าลูกจ้างมีเงินได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้หรือไม่แต่คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าลูกจ้างมิได้ว่าลูกจ้างมีเงินได้ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีดังกล่าว เป็นคนละขั้นตอนกัน จึงจะนำมาเปรียบเทียบกันหาได้ไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share