คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 823/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หลังจากเจ้ามรดกตาย โจทก์จำเลยซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกและ ส. ซึ่งเป็นภรรยาของเจ้ามรดกได้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกร่วมกัน ส่วนบุตรคนอื่นของเจ้ามรดกไม่ได้ร่วมครอบครองที่ดินพิพาทด้วย แม้ต่อมา ส. ได้รื้อบ้านออกไปปลูกในที่ดินแปลงอื่น ก็ถือว่าโจทก์จำเลยและ ส. ได้ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 การที่ส.ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทโดยลงชื่อตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวในภายหลังโดยโจทก์ไม่ยินยอม ก็ถือว่าโจทก์ยังคงมีส่วนในที่ดินพิพาทนั้น 1 ใน 3 ส่วนอยู่เช่นเดิม ส.ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ไปยกให้จำเลย โจทก์ขอแบ่งที่ดินพิพาทที่ตนเป็นเจ้าของรวมจากจำเลย 1 ใน 3 ส่วนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยต่างก็เป็นบุตรของนายกล่ำ กับนางสิน สร้อยนาค ที่ดินที่ใช้เพื่ออยู่อาศัยและที่ดินที่ใช้เพื่อตกกล้ารวม 2 แปลง เนื้อที่แปลงละ 1 ไร่เศษ ตั้งอยู่ที่ตำบลเฉนียงอำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เป็นสินเดิมของนายกล่ำเมื่อประมาณ 10 ปีมานี้ นายกล่ำ สร้อยนาค ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ที่ดินตั้ง 2 แปลงจึงเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์จำเลยกับนางสิน ทั้ง 3 คนนี้ได้ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา แต่เมื่อ พ.ศ. 2525 นางสินได้ขอออกโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง โดยลงชื่อนางสินเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวทั้งนี้โดยนางสินสัญญากับโจทก์ว่าจะทำการแบ่งมรดกของนายกล่ำให้แก่โจทก์จำเลยในภายหลัง ต่อมาเดือนมกราคม 2528 นางสินถึงแก่ความตายโจทก์จึงทราบว่านางสินได้จดทะเบียนยกที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่โจทก์ตามสิทธิในการรับมรดกของนายกล่ำแต่จำเลยไม่ยอมแบ่งแยกให้ ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินทั้ง 2 แปลงให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่สินเดิมและทรัพย์มรดกของนายกล่ำ แต่เป็นทรัพย์ของนางสิน และก่อนถึงแก่ความตายนางสินได้ยกที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่จำเลยแล้ว โจทก์ขออาศัยจำเลยอยู่ในที่ดินที่ใช้เพื่ออยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่รู้การตายของนายกล่ำเจ้ามรดก คดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้พิพากษายกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงให้แก่โจทก์แปลงละกึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ดำเนินการตามที่กล่าวมานี้ก็ให้ถือเอาตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์จำเลยต่างไม่ฎีกาคัดค้านในข้อที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า นายกล่ำกับนางสิน สร้อยนาคเป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกัน 10 คน ซึ่งรวมทั้งโจทก์จำเลย โดยโจทก์เป็นพี่จำเลย เดิมที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงเป็นสินเดิมของนายกล่ำและเป็นที่ดินตาม ส.ค.1 ซึ่งนายกล่ำเป็นผู้แจ้งการครอบครองเมื่อ พ.ศ. 2498 โดยระบุว่าได้มาโดยการรับมรดกจากบิดามารดามาประมาณ 35 ปีแล้วปรากฏตาม ส.ค.1 จำนวน 2 ฉบับเอกสารหมาย จ.1, จ.2 นายกล่ำได้ครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงจนถึง พ.ศ. 2513 จึงถึงแก่ความตายต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2525 นางสินได้ขอออกโฉนดที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงโดยลงชื่อตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว และเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 นางสินได้ยกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงให้แก่จำเลยโดยเสน่หาปรากฏตามโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาให้ที่ดินรวม 2 โฉนดเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3นางสินถึงแก่ความตายเมื่อ พ.ศ. 2527 หลังจากนางสินตายโจทก์กับจำเลยก็ยังครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงตลอดมา
ที่จำเลยฎีกาว่า หลังจากนายกล่ำเจ้ามรดกตาย ทายาททุกคนของนายกล่ำได้ตกลงแบ่งมรดกทั้งหมดของนายกล่ำ ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง และต่างก็ครอบครองเป็นส่วนสัดตามส่วนแบ่งของตนแล้ว โดยนางสินได้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงเป็นส่วนแบ่งซึ่งต่อมาได้ยกให้แก่จำเลยโดยเสน่หา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงจากจำเลยนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า หลังจากนายกล่ำเจ้ามรดกตายคงมีแต่โจทก์และจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแปลงที่ใช้เพื่ออยู่อาศัยโดยต่างก็มีบ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยในที่ดินแปลงนั้น ส่วนนางสินมารดารื้อบ้านบางส่วนออกไปปลูกสร้างในที่ดินแปลงใหม่ บุตรคนอื่น ๆของนายกล่ำต่างก็ไปอยู่ที่อื่นไม่ได้อยู่อาศัยด้วยในที่ดินแปลงนั้น และปรากฏตามคำเบิกความของนางพวน สร้อยนาค พยานโจทก์ว่าเดิมจำเลยทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแปลงที่ใช้เพื่อตกกล้า ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2528 โจทก์เข้าไปทำประโยชน์ร่วมกับจำเลยในที่ดินแปลงนั้น จำเลยมิได้นำสืบหักล้างในข้อนี้ทั้งนางพูนศรี ขาวงามพยานจำเลยยังเบิกความเจือสมพยานโจทก์ว่าปัจจุบันโจทก์ยังอยู่ในที่ดินพิพาทซึ่งนางสินมารดายกให้แก่จำเลย และจำเลยเองก็เบิกความรับว่าโจทก์อาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทตั้งแต่เกิดจนปัจจุบันส่วนบุตรคนอื่น ๆ ของนายกล่ำไม่ปรากฏว่าได้ร่วมครอบครองด้วย สำหรับนางสินได้รื้อบ้านออกไปปลูกในที่ดินแปลงอื่นภายหลังนายกล่ำตายแล้วดังนี้ ถือว่าโจทก์จำเลยและนางสินได้ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1748 แม้ต่อมานางสินขอออกโฉนดที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงโดยลงชื่อตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวโดยโจทก์ไม่ยินยอมถือว่าโจทก์ยังคงมีส่วนในที่ดินพิพาทนั้น 1 ใน 3 ส่วนอยู่เช่นเดิมนางสินไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ไปยกให้จำเลยโดยเสน่หาได้ ฉะนั้นปัจจุบันนี้โจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง 1 ใน 3 ส่วนของที่ดินพิพาทแต่ละแปลงโจทก์จึงฟ้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงที่ตนเป็นเจ้าของรวมจากจำเลยแปลงละ 1 ใน 3 ส่วนได้ เพราะเป็นกรณีที่เจ้าของรวมเรียกให้แบ่งทรัพย์จากเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งแยกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงให้แก่โจทก์แปลงละกึ่งหนึ่งไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงให้แก่โจทก์แปลงละ 1 ใน 3 ส่วน หากจำเลยไม่ดำเนินการตามที่กล่าวมานี้ก็ให้ถือเอาตามคำพิพากษาศาลฎีกาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

Share