แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารและที่ดินติดต่อกันโดยจำเลยที่ 3 ผู้ขายได้ทำรั้วกั้นแนวเขตไว้ให้โจทก์จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของรั้วพิพาทร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1344 การที่จำเลยที่ 1 ต่อเติมรั้วพิพาทเป็นกำแพงหรือผนังของอาคารสูงเกิน 3 เมตร ทำให้รั้วหมดสภาพไปย่อมเป็นการขัดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 27จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ารั้วพิพาทนอกจากจะใช้เป็นแนวเขตแล้วยังสามารถใช้เป็นกำแพงหรือผนังอาคารได้ด้วยหาได้ไม่ จำเลยจึงต้องรื้อส่วนที่ต่อเติมออก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันจ้างจำเลยที่ 3 ให้ทำการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยในที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งติดต่อกับที่ดินของโจทก์โดยขัดต่อกฎหมายและเทศบัญญัติของกรุงเทพมหานคร และได้ก่อสร้างผนังอาคารส่วนหนึ่งบนกำแพงรั้วส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ขึ้นไปตามแนวกำแพงรั้วและรุกล้ำเข้ามาในแนวที่ดินโจทก์ เป็นเหตุให้กำแพงรั้วโจทก์เกิดรอยร้าวแตกแยกหลายแห่ง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนอาคารส่วนที่สร้างบนกำแพงรั้วของโจทก์และทำการซ่อมกำแพงรั้วของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิมโดยจำเลยทั้งสามเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกัน และจำเลยที่ 3 ฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 3 ต่อเติมอาคารภายในเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รุกล้ำหรือกระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด กำแพงรั้วพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 มิใช่ของโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ตกลงให้จำเลยที่ 3 ต่อเติมอาคารตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง และเมื่อโจทก์เจาะสกัดกำแพงรั้วพิพาทของจำเลยที่ 3และทำเหล็กเชื่อมตรึงเป็นตาข่ายเป็นเหตุให้กำแพงรั้วของจำเลยที่ 3เสียหาย ขอให้บังคับโจทก์รื้อเหล็กตาข่ายที่ติดตรึงกำแพงรั้วของจำเลยที่ 3 ออกไปและซ่อมแซมรั้วกำแพงให้อยู่ในสภาพเดิม กับให้ชำระเงินจำนวน 1,000 บาท แก่จำเลยที่ 3
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในกำแพงรั้วด้วยโจทก์สร้างตาข่ายเหล็กเพื่อป้องกันการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อกำแพงรั้วพิพาทตามภาพถ่าย ส่วนที่ต่อเติมทั้งหมดโดยมิให้แนวกำแพงรั้วพิพาท (แนวรั้วเดิม) เสียหายและทำให้กำแพงรั้วมีสภาพเหมือนเดิม โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสาม คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกายอมรับฟังเป็นยุติได้ว่าฝ่ายจำเลยต่อเติมรั้วพิพาทเป็นกำแพงหรือผนังของอาคาร มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิต่อเติมรั้วพิพาทได้หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 รั้วพิพาทเป็นรั้วกั้นแนวเขตระหว่างที่ดินของบุคคลทั้งสองโดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินและทาวน์เฮาส์จากจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้สร้างขายพร้อมกับทำรั้วกั้นแนวเขตให้เช่นเดียวกับทาวน์เฮาส์หลังอื่น ๆ ที่อยู่ในแนวเดียวกัน ดังนั้นโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของรั้วพิพาทรวมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1344 การที่ฝ่ายจำเลยต่อเติมรั้วพิพาทเป็นกำแพงหรือผนังของอาคารทำให้รั้วหมดสภาพไปย่อมเป็นการขัดต่อสิทธิของโจทก์ นอกจากนั้นตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 27ก็ได้กำหนดไว้ว่ารั้วหรือกำแพงกั้นเขตให้ทำได้สูงเหนือระดับถนนสาธารณะไม่เกิน 3 เมตร ปรากฏว่าตามภาพถ่ายหมาย จ.13 ภาพที่ 4-6ฝ่ายจำเลยได้ต่อเติมกำแพงรั้วสูงจากระดับรั้วเดิมมาก อันเป็นการผิดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ารั้วพิพาทนอกจากใช้เพื่อเป็นแนวเขตแล้วยังสามารถใช้เป็นกำแพงหรือผนังอาคารได้ด้วยหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อกำแพงรั้วพิพาทในส่วนที่ต่อเติมนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน