คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3173/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นสมควรยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นวินิจฉัย แสดงว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วว่าคดีนั้นจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ต้องตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง ที่บัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้วินิจฉัย ศาลแรงงานกลางหามีอำนาจวินิจฉัยเสียเองไม่เมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัยเสียเองว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางจึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2525 จำเลยทำสัญญารับจ้างเฝ้ารักษาไม้ที่โรงเรียนบ้านลำเลียง จำนวน196 ท่อน ปริมาตร 356.58 ลูกบาศก์เมตร ของโจทก์ โดยสัญญาว่าถ้าไม้สูญหายหรือเสียหายไม่ว่าด้วยประการใด ๆ จำเลยยอมให้โจทก์ปรับไม่เกินลูกบาศก์เมตรละ 1,000 บาท สำหรับไม้กะยาเลย อื่น ๆ และไม่เกินต้นละ ท่อนละหรือลูกบาศก์เมตรละ3,000 บาท สำหรับไม้ประดู่ พยุง ชิงชัง มะค่าโมงและตะเคียนทอง และไม่เกินต้นละ ท่อนละ หรือลูกบาศก์เมตรละ8,000 บาท สำหรับไม้สัก จำเลยตรวจสอบและรับไม้ไว้ถูกต้องแล้วในวันทำสัญญา ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2527 เจ้าพนักงานป่าไม้รายงานให้โจทก์ทราบว่า ไม้ตามสัญญาจ้างเฝ้ารักษาซึ่งจะส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อได้สูญหายไป ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงาน โดยให้จำเลยชำระค่าปรับตามสัญญาจ้างเฝ้ารักษาไม้ในอัตราลูกบาศก์เมตรละ 650 บาท คิดเป็นเงิน231,777 บาท ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายที่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเงิน 231,777 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 27 มีนาคม 2527 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 143,114.36 บาท รวมเป็นเงิน 374,891.36 บาทและให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวน 231,777 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญาทั้งสองฉบับเป็นสัญญาที่ไม่ถูกต้องและไม่สมบูรณ์ ในวันทำสัญญานายสมศักดิ์ อิ่มพงษ์ เจ้าหน้าที่ของโจทก์นำเอกสารสัญญาทั้งสองฉบับมาให้จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาในฐานะผู้รับจ้าง โดยมีนายสมศักดิ์และครูโรงเรียนบ้านลำเลียงคนหนึ่งลงชื่อเป็นพยาน โดยไม่มีผู้ว่าจ้างลงลายมือชื่อแล้วนายสมศักดิ์นำสัญญาทั้งหมดไป จำเลยทรายภายหลังว่ามีการลงลายมือชื่อผู้ว่าจ้างในสัญญา ชื่อนายอำนวย มธุโรรสโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลยและพยานทั้งสอง ลายมือชื่อผู้ว่าจ้างเป็นลายมือชื่อปลอม และการทำสัญญาได้ทำที่โรงเรียนบ้านลำเลียงไม่ใช่ทำที่สวนทำไม้สุราษฎร์ธานีสัญญาทั้งสองฉบับได้เลิกกันแล้ว โดยนายสมศักดิ์ได้บอกเลิกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2526 จำเลยส่งมอบไม้ทั้งหมดตามสัญญาคือให้นายสมศักดิ์แล้ว นายสมศักดิ์เห็นว่าถูกต้องและรับไม้คืนทั้งหมดพร้อมกับจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลย สัญญาจ้างเฝ้ารักษาไม้ทั้งสองฉบับเลิกกัน โจทก์กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆต่อกันตามสัญญาทั้งสองฉบับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ว่า เป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยก่อน โดยวินิจฉัยว่า การทำสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 มิใช่สัญญาจ้างแรงงานหากแต่เป็นสัญญาจ้างอย่างอื่น เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวมิใช่เป็นการจ้างแรงงาน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นพิพาทข้ออื่นต่อไปพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจ้างให้ทำงานโดยคำนึงถึงระยะเวลาให้ทำงาน และตกลงจ่ายค่าจ้างตามระยะเวลาที่ทำงานให้อีกทั้งอำนาจการครอบครองไม้อยู่แก่โจทก์ผู้ว่าจ้าง จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างเพียงแต่เฝ้ารักษามิให้ไม้สูญหายหรือเป็นอันตรายเท่านั้นข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8(1) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงานกลาง พิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียเองว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลแรงงานนั้นชอบหรือไม่ หรือว่าต้องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสองบัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่นให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด” เห็นว่าคดีนี้เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นสมควรยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นวินิจฉัย แสดงว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ต้องตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 9 วรรคสอง ที่บัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้วินิจฉัยศาลแรงงานกลางหามีอำนาจวินิจฉัยเสียเองไม่ เมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัยเสียเองว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางจึงเป็นการไม่ชอบคดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อนว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ แล้วดำเนินการต่อไป

Share