คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3172/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำพิพากษากำหนดให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมโดยจำกัดความผิดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไว้ โจทก์จึงมีสิทธิบังคับให้จำเลย คนใดคนหนึ่งชำระหนี้โดยสิ้นเชิงภายในวงเงินที่ต้องรับผิดหรือแต่โดยส่วน ก็ได้ตามแต่จะเลือก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระหนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะ ร้องขอให้บังคับคดีโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งเจ็ดให้เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดี และ ค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ขอยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 เพิ่มเติม ซึ่งไม่ติดจำนองโจทก์ แต่ติดจำนองผู้ร้อง และศาลชั้นต้นอนุญาตโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินการขายทรัพย์ที่ติดจำนองให้ครบถ้วนก่อน หากได้เงินจำนวนเพียงพอที่จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป โจทก์ต้องถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 โดยเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย จึงไม่เป็นการนำยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 ร่วมกันชำระเงิน 22,336,772.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม โดยให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมรับผิดไม่เกิน 1,759,452.27 บาท และให้จำเลยที่ 4ร่วมรับผิดไม่เกิน 3,182,220.23 บาท ตามคำขอของโจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ หากยังไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบแต่จำเลยทั้งเจ็ดไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ขอให้บังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินซึ่งจำนองอยู่แก่โจทก์และยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 248, 1124 กับ 1138 ของจำเลยที่ 4 ซึ่งติดจำนองอยู่แก่ผู้ร้อง โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องขายทรัพย์สินซึ่งจำนองอยู่แก่โจทก์ให้ครบเสียก่อน หากได้เงินสุทธิพอแก่จำนวนหนี้ที่ค้างชำระก็ให้โจทก์ถอนการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 และชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองในทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ผู้ร้องขอสวมสิทธิของโจทก์ในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตนทันทีโดยไม่จำต้องรอขายทรัพย์สินซึ่งจำนองอยู่แก่โจทก์เสียก่อนศาลชั้นต้นไม่อนุญาตผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง แต่ขอถอนอุทธรณ์ในเวลาต่อมา

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 4โดยยังมิได้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำนองไว้แก่โจทก์เป็นการข้ามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่า การที่โจทก์นำยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 4 ซึ่งจำนองไว้แก่ผู้ร้อง โดยยังมิได้ขายทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำนองไว้แก่โจทก์ เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพื่อกีดกันไม่ให้ผู้ร้องบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินของจำเลยที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 ต้องร่วมกันชำระเงิน 22,336,772.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมรับผิดไม่เกิน1,759,452.27 บาท และจำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดไม่เกิน 3,182,220.23 บาทหากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบคำพิพากษาดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม โดยจำกัดความผิดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไว้ โจทก์จึงมีสิทธิบังคับให้จำเลยคนใดคนหนึ่งชำระหนี้โดยสิ้นเชิงภายในวงเงินที่ต้องรับผิดหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระหนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งเจ็ดให้เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษา พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดี และค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 วรรคหนึ่ง และตามรายงานเจ้าพนักงานบังคับคดี ฉบับลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2537 ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2537 จำนวน 42,299,813.69 บาท โดยหักทอนหนี้ที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2536 แล้วจำนวน2,175,000 บาท ส่วนทรัพย์จำนองอีก 2 รายการ ที่ยึดไว้ยังขายทอดตลาดไม่ได้เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ 25,675,000 บาท หากขายทอดตลาดได้ก็ไม่พอชำระหนี้ และจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันที่ 31 มกราคม 2537จำนวน 4,710,249.30 บาท ดังนั้น การที่โจทก์ขอยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4เพิ่มเติม ซึ่งไม่ติดจำนองโจทก์ แต่ติดจำนองผู้ร้อง และศาลชั้นต้นอนุญาตโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินการขายทรัพย์ที่ติดจำนองซึ่งอยู่ในระหว่างรอการขายทอดตลาดให้ครบถ้วนก่อน หากได้เงินจำนวนเพียงพอที่จำเลยที่ 4ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป โจทก์ต้องถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 โดยเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย จึงไม่เป็นการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ส่วนคำพิพากษาที่ว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดจนครบถ้วนนั้นหมายความถึงเฉพาะการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จำนองทรัพย์เป็นประกันหนี้โจทก์ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่ชำระหนี้เท่านั้น หาได้หมายความว่าให้โจทก์ไปบังคับเอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยสิ้นเชิงก่อนและถ้าได้เงินไม่พอจึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ได้ การบังคับคดีของโจทก์จึงมิได้ข้ามขั้นตอนตามที่คำพิพากษากำหนดไว้และเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตไม่ทำให้ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองเสื่อมเสียสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 แต่อย่างใด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ได้

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share