แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก ทนายจำเลยมาศาล ส่วนโจทก์ ไม่มา ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 วรรคแรกประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ให้ศาลแรงงานมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์เสียจากสารบบความก็ตาม แต่คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งโจทก์ด้วย จำเลยจึงมีฐานเป็นโจทก์ และโจทก์เดิมตกเป็นจำเลยตามฟ้องแย้ง ต้องถือว่าโจทก์ตามฟ้องแย้งมาศาลแล้วและตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 202 ถ้าจำเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แล้วให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว แม้การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์อันทำให้ไม่มีคำฟ้องเดิมที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปก็ตาม แต่ก็ยังมีตัวโจทก์ที่ยังคงเป็นจำเลยของฟ้องแย้งอยู่ต่อไป จึงมีคู่ความครบถ้วนทั้งสองฝ่ายที่ศาลแรงงานจะดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของฟ้องแย้งต่อไปได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายขายเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2534 ค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ครั้นวันที่ 31 สิงหาคม 2535 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ไม่จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 90,000 บาทและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 30,000 บาท ทั้งจำเลยค้างจ่ายค่าคอมมิชชั่นโจทก์เป็นเงิน 15,000 บาท การเลิกจ้างโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 60,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์หยุดงานไปเองโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า โจทก์หยุดงานไปตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2535เป็นต้นมา จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายโดยตกลงกันว่าโจทก์จะต้องขายสินค้าพื้นสำเร็จรูปของจำเลยให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 6,000 ตารางเมตร ตรวจสอบรายงานทุก 3 เดือนหากขายสินค้าได้น้อยกว่าจำนวนดังกล่าว โจทก์ยอมให้จำเลยหักเงินเดือนเท่ากับผลต่าง โดยคิดหักในอัตราตารางเมตรละ 4.50 บาทหากขายได้สูงกว่า จำเลยจะเพิ่มเงินให้แก่โจทก์เท่าจำนวนที่ขายได้เกิน ในอัตราตารางเมตรละ 4.50 บาท ปรากฏว่านับแต่โจทก์ทำงานกับจำเลยมาโจทก์ขายสินค้าได้น้อยกว่าอัตราที่กำหนดคือขายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 4,348.71 ตารางเมตร ต่ำกว่ากำหนดอยู่เดือนละ 1,651.29 ตารางเมตร โจทก์ต้องยอมให้หักเงินเดือนอัตราตารางเมตรละ 4.50 บาท เป็นเงิน 7,430.81 บาทต่อเดือนรวมทั้งปีเป็นเงิน 89,169.66 บาท ซึ่งโจทก์ต้องชำระคืนแก่จำเลยเมื่อโจทก์ทราบถึงจำนวนซึ่งจะต้องคืนให้จำเลย โจทก์จึงหยุดงานไปโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทำให้จำเลยเสียหายจำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าคอมมิชชั่นและค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระเงิน 89,169.66 บาทและค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์หยุดงานโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 70,000 บาท ด้วย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่เคยกระทำความเสียหายให้แก่จำเลยโจทก์ทำงานในบริษัทจำเลยในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ตกลงอัตราเงินเดือนเดือนละ 30,000 บาท จำเลยได้จ่ายเงินเดือนให้โจทก์ทุกเดือนกับค่าเปอร์เซ็นต์ ในการขายผลิดภัณฑ์คอนกรีต แล้วแต่ปริมาณการขายที่โจทก์ขายได้ในแต่ละเดือน เปอร์เซ็นต์ การขายไม่เกี่ยวข้องกับเงินเดือนในวันที่โจทก์ทำงานครบ 1 ปี จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยปริยายด้วยเหตุไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่เคยตกลงกับจำเลยว่าจะต้องขายพื้นสำเร็จรูปให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 6,000 ตารางเมตรตรวจสอบกันทุก 3 เดือน ในอัตราตารางเมตรละ 4.50 บาท ตามที่จำเลยอ้าง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายจำเลยมาศาล โจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา และจำหน่ายคดีทั้งหมดออกเสียจากสารบบความ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วจำเลยอุทธรณ์ว่า การสั่งจำหน่ายคดีทั้งหมดออกจากสารบบความของศาลชั้นต้นรวมไปถึงฟ้องแย้งของจำเลยด้วยเพราะเหตุโจทก์ขาดนัดพิจารณานั้นไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในวันนัดสืบพยานนัดแรก ทนายจำเลยมาศาลส่วนโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 วรรคแรกประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ให้ศาลแรงงานมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์เสียจากสารบบความก็ตาม แต่คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งโจทก์ จำเลยจึงมีฐานะเป็นโจทก์ตามฟ้องแย้ง และโจทก์เดิมจึงตกเป็นจำเลยตามฟ้องแย้งต้องถือว่าโจทก์ตามฟ้องแย้งมาศาลแล้วและตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 202 บัญญัติว่าถ้าได้ส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว จำเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แล้วให้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม แม้การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์อันทำให้ไม่มีคำฟ้องเดิมที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปก็ตาม แต่ก็ยังมีตัวโจทก์ที่ยังคงเป็นจำเลยของฟ้องแย้งอยู่ต่อไป จึงมีคู่ความครบถ้วนทั้งสองฝ่ายที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีทั้งหมดรวมทั้งคดีตามฟ้องแย้งของจำเลยออกเสียจากสารบบความเพราะเหตุโจทก์ขาดนัดพิจารณา จึงเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลแรงงานกลางเฉพาะส่วนที่จำหน่ายคดีฟ้องแย้งของจำเลยและให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยต่อไปและมีคำพิพากษาตามรูปคดีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลแรงงานกลาง