คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 317/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้อาศัยออกจากตึกพิพาทที่โจทก์เช่าจาก น.เจ้าของตึก.ซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสองพันบาท. จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์หรือยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาอาศัย. ที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเป็นผู้เช่าตึกโดยจำเลยให้โจทก์ลงชื่อแทนนั้น. แม้จะเป็นการโต้เถียงสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยว่าใครเป็นผู้เช่าตึกพิพาทจากเจ้าของตึกก็ตาม. แต่ก็ไม่เรียกว่าเป็นการกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ. คดีนี้จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224. ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ว่า. โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้เช่าตึกพิพาทจากเจ้าของตึกซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง. โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นมิได้รับรองปัญหาข้อเท็จจริงนี้ว่ามีเหตุอันมิควรอุทธรณ์. จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 224.
ในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง. ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้เช่าตึกพิพาทจากเจ้าของตึกเพื่อตัวโจทก์เอง. มิใช่ทำสัญญาเช่าแทนจำเลย. และฟังต่อไปว่า โจทก์ได้ให้จำเลยอาศัยตั้งบริษัท เจ.เอ.อยู่ชั่วคราว. มิใช่โจทก์ให้บริษัท เจ.เอ.อาศัย. ซึ่งในประเด็นเช่นนี้. ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดกฎหมายหรือปราศจากพยานหลักฐานในสำนวนแต่ประการใด. ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นที่ว่า. โจทก์ได้ให้จำเลยอาศัยหรือไม่.ขึ้นวินิจฉัยว่า. โจทก์นำสืบไม่สมฟ้อง. ฟังไม่ได้ว่าได้ให้จำเลยอาศัย. ข้อเท็จจริงกลายเป็นโจทก์ให้บริษัท เจ.เอ.อาศัย. ศาลฎีกาจึงรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนี้ไม่ได้. เพราะเป็นการวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ต้องห้าม. ไม่.ถือว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นกล่าวในชั้นศาลอุทธรณ์.
โจทก์เช่าตึกพิพาทจากเจ้าของตึก. แล้วโจทก์ให้จำเลยอาศัยสิทธิของโจทก์.ความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์และจำเลย.ไม่.เกี่ยวกับสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับเจ้าของตึกพิพาทเลย. กฎหมายปิดปากไม่ให้ผู้อาศัยกล่าวอ้างว่า.ผู้ให้อาศัยไม่ใช่เจ้าของทรัพย์หรือไม่มีสิทธิในทรัพย์ที่เขาให้ตนอาศัย.
การอาศัยต้องถือเป็นสัญญาที่ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิ. มิใช่สิทธิอาศัยอันเป็นทรัพย์สิทธิตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 บุคคลสิทธินี้ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ให้อาศัยและผู้อาศัย. ถ้าผู้ให้อาศัยไม่ประสงค์จะให้ผู้อาศัยอยู่ในตึกพิพาทเมื่อใด.ผู้ให้อาศัยก็มีสิทธิจะขับไล่ผู้อาศัยออกไปได้ทันที. และผู้อาศัยก็มีหน้าที่จะต้องออกไปด้วย.
สัญญาเช่ามีว่า. เมื่อสิ้นระยะเวลาเช่าแล้ว ถ้าผู้เช่ายังคงอยู่ในสถานที่เช่าต่อมา. ก็ให้ถือว่าเช่ากันเป็นรายเดือนจนกว่าผู้ให้เช่าหรือผู้เช่าจะบอกกล่าวล่วงหน้าหนึ่งเดือนเลิกสัญญา. ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าของตึกผู้ให้โจทก์เช่าได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์ผู้เช่า. จึงต้องถือว่าสัญญาเช่าระหว่างเจ้าของตึกกับโจทก์ยังไม่ระงับจำเลยอาศัยตึกพิพาทที่โจทก์เช่าอยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าตึกแถวของนางเนียร โจทก์ให้จำเลยอยู่อาศัย โจทก์ต้องการคืน จำเลยไม่ยอมออก ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวาร และให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้เช่า โจทก์ลงชื่อในหนังสือสัญญาเช่าแทน ฯลฯ ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์เป็นผู้เช่า พิพากษาให้ขับไล่และใช้ค่าเสียหายตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้อาศัยออกจากอสังหาริมทรัพย์ ตึกพิพาทที่โจทก์เช่ามาจากนางเนียร ลพานุกรมเจ้าของตึก ซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสองพันบาท จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ หรือยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาอาศัย ที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเป็นผู้เช่าตึกพิพาทโดยจำเลยให้โจทก์ลงชื่อแทนนั้น แม้จะเป็นการโต้เถียงสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยว่าใครเป็นผู้เช่าตึกพิพาทจากเจ้าของตึกก็ตาม แต่ก็ไม่เรียกว่าเป็นการกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ คดีนี้จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นผู้เช่าตึกพิพาทจากเจ้าของตึกซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงโดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นมิได้รับรองปัญหาข้อเท็จจริงนี้ว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 224 คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่เพียงประเด็นเดียวว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยในคดีนี้ได้หรือไม่เท่านั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลอุทธรณ์จำต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 เว้นแต่กรณีจะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 243(3) คดีนี้ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้เช่าตึกพิพาทจากนางเนียร ลพานุกรม เจ้าของตึกเพื่อตัวโจทก์เอง มิใช่ทำสัญญาเช่าแทนจำเลย และฟังต่อไปว่าโจทก์ได้ให้จำเลยอาศัยตั้งบริษัท เจ.เอ.อยู่ชั่วคราว มิใช่โจทก์ให้บริษัท เจ.เอ.อาศัย ซึ่งในประเด็นเช่นนี้ ศาลชั้นต้นก็มิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดกฎหมายหรือปราศจากพยานหลักฐานในสำนวนแต่ประการใด ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกประเด็นที่ว่าโจทก์ได้ให้จำเลยอาศัยหรือไม่ขึ้นมาวินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบไม่สมฟ้อง ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ให้จำเลยอาศัย ข้อเท็จจริงกลายเป็นโจทก์ให้บริษัท เจ.เอ. ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอาศัยศาลฎีกาจึงรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนี้ไม่ได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ต้องห้าม ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นศาลอุทธรณ์ ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์เป็นผู้เช่าตึกพิพาทจากเจ้าของตึก แล้วโจทก์ให้จำเลยอาศัย จึงเป็นกรณีที่จำเลยเข้าอยู่ในตึกพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์และจำเลยไม่เกี่ยวกับสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับเจ้าของตึกพิพาทเลย กฎหมายปิดปากไม่ให้ผู้อาศัยกล่าวอ้างว่าผู้ให้อาศัยไม่ใช่เจ้าของทรัพย์หรือไม่มีสิทธิในทรัพย์ที่เขาให้ตนอาศัย การอาศัยต้องถือเป็นสัญญาอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิ มิใช่สิทธิอาศัยอันเป็นทรัพย์สิทธิ ตามที่บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 บุคคลสิทธินี้ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ให้อาศัยและผู้อาศัย ถ้าผู้ให้อาศัยไม่ประสงค์จะให้ผู้อาศัยอยู่ในตึกพิพาทเมื่อใด ผู้ให้อาศัยก็มีสิทธิจะขับไล่ผู้อาศัยออกไปได้ทันที และผู้อาศัยก็มีหน้าที่จะต้องออกไปด้วย ส่วนปัญหาที่ว่า สัญญาเช่าระหว่างเจ้าของตึกพิพาทผู้ให้เช่าและโจทก์ผู้เช่าระงับไปแล้วหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การเช่ารายนี้มีหนังสือสัญญาเช่าหมาย จ.1 เป็นหลักฐาน ในสัญญาเช่ากำหนดระยะเวลาเช่ากันไว้ 1 ปี แม้ระยะเวลาเช่า 1 ปี จะสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ก็ยังคงครอบครองทรัพย์สินที่เช้าอยู่ โดยโจทก์ผู้เช่าได้ชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าตลอดมา ทั้งเอกสารสัญญาเช่าหมาย จ.1 ข้อ 12นี้ ก็ได้กำหนดไว้ชัดว่า “เมื่อสิ้นระยะเวลาเช่าแล้ว ถ้าผู้เช่ายังคงอยู่ในสถานที่เช่าต่อมา ก็ให้ถือว่าเช่ากันเป็นรายเดือนจนกว่าผู้ให้เช่าหรือเช่าจะบอกกล่าวล่วงหน้าหนึ่งเดือนเลิกสัญญา”ซึ่งในคดีนี้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านางเนียร ลพานุกรม เจ้าของตึกผู้ให้เช่าได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์ผู้เช่าตามสัญญาเช่าข้อ 12แล้ว ดังนั้น จึงต้องถือว่าสัญญาเช่าระหว่างเจ้าของตึกผู้ให้เช่าและโจทก์ผู้เช่ายังหาระงับไปไม่ โจทก์ยังคงเป็นผู้เช่าตึกพิพาทอยู่เป็นรายเดือนตามสัญญาเช่าข้อ 12 นี้ เมื่อสัญญาเช่าระหว่างเจ้าของตึกผู้ให้เช่าและโจทก์ผู้เช่ายังไม่ระงับไปและคดีฟังได้ว่าจำเลยอาศัยตึกพิพาทที่โจทก์เป็นผู้เช่าอยู่นี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากตึกพิพาทได้ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share