คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3167/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามจนทำให้ผู้นั้นต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันแน่นอน หรือหากไม่ระบุถึงผู้ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ส่วนการใส่ความที่เป็นถ้อยคำหรือข้อความอันจะทำให้ผู้ที่ถูกใส่ความต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังก็มิใช่จะพิจารณาหรือวัดจากความรู้สึกของผู้ถูกใส่ความเป็นสำคัญแต่อย่างใด เพราะอารมณ์และความรู้สึกของบุคคลจะมีที่มาจากความเห็นแก่ตนเองของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ดังนั้น การพิจารณาว่าถ้อยคำหรือข้อความใดจะเป็นการใส่ความผู้อื่นจนทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกและความเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความนั้นของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปเป็นเกณฑ์ที่จะให้รับฟังว่าเป็นหมิ่นประมาทหรือไม่ เมื่อข้อความที่จำเลยทั้งสามตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เป็นข้อความทั่ว ๆ ไปที่วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยมิได้กล่าวถึงตัวบุคคลว่าเป็นผู้ใดและไม่มีตอนใดเป็นการกล่าวร้ายใส่ความ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีมูลความผิดฐานหมิ่นประมาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ , ๓๒๘ , ๘๓ , ๙๐ , ๙๑ และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔ , ๕ , ๔๘
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้ว่า คดีโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามจนทำให้ผู้นั้นต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๘ นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันแน่นอน หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ส่วนการใส่ความที่เป็นถ้อยคำหรือข้อความอันจะทำให้ผู้ที่ถูกใส่ความต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังก็มิใช่จะพิจารณาหรือวัดจากความรู้สึกของผู้ถูกใส่ความเป็นสำคัญแต่อย่างใด เพราะอารมณ์และความรู้สึกของบุคคลจะมีที่มาจากความเห็นแก่ตนเองของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ดังนั้น การพิจารณาว่าถ้อยคำหรือข้อความใดจะเป็นการใส่ความผู้อื่นจนทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกและความเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความนั้นของวิญญูชนทั่ว ๆ ไป เป็นเกณฑ์ที่จะให้รับฟังว่าเป็นหมิ่นประมาทตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๘ หรือไม่ ข้อความที่จำเลยทั้งสามตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ตามเอกสารหมาย จ.๑ ที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นข้อความทั่ว ๆ ไป ที่วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติต่อประชาชนที่มาร่วมชุมนุมตามสิทธิที่จะทำได้ในระบอบประชาธิปไตยว่าไม่เหมาะสมไม่ควรเท่านั้น ดังเช่นศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาชอบแล้ว ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่มีตอนใดที่จะให้รับฟังว่าเป็นการกล่าวร้ายใส่ความ แม้จะมีคำว่า คนโรคจิตหรือบ้าอำนาจอยู่ด้วย ก็เป็นถ้อยคำที่จำเลยที่ ๓ กล่าวออกมาด้วยความรู้สึกที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ควรกระทำการใด ๆ รุนแรงต่อประชาชนผู้มาชุมนุมเท่านั้น มิได้กล่าวหาถึงขั้นว่าประพฤติชั่ว กระทำการขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีหรือฉ้อราษฎร์บังหลวงแต่อย่างใด นอกจากนี้ถ้อยคำดังกล่าวคงกล่าวถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยทั่ว ๆ ไปที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการที่ประชาชนมาชุมนุมกันเท่านั้น มิได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด ถึงแม้จะมีระบุถึงกองปราบปรามอยู่ด้วย ก็เป็นการกล่าวโดยรวม มิได้ระบุตัวเจ้าพนักงานตำรวจในกองปราบปรามคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ หรือตำรวจหน่วยใดในกองปราบปรามที่ระบุตัวได้แน่นอน ดังนั้น เจ้าพนักงานตำรวจที่สังกัดกองปราบปรามคนใดคนหนึ่งจึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าเป็นผู้เสียหายได้ โจทก์ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ถึงแม้จะทำหน้าที่กำกับดูแลกองปราบปรามก็ไม่เป็นผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดแล้วพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share