แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2533 ไม่ได้บัญญัติให้สถานีวิทยุ ปชส.8 วิทยุการเกษตรเป็นส่วนราชการของกรมส่งเสริมการเกษตรแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านจัดรายการของสถานีวิทยุ ปชส.8วิทยุการเกษตรตามคำสั่งแต่งตั้งของอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรมิใช่ถูกแต่งตั้งอย่างข้าราชการไม่มีการสอบคัดเลือกและไม่ต้องรับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) การถอดถอนหรือให้ออกจากตำแหน่งก็เป็นไปตามที่อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเห็นสมควร ดังนี้ ฐานะของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ดำเนินงานของสถานีวิทยุปชส.8 วิทยุการเกษตร ตามมติของคณะกรรมการดำเนินงานสถานีวิทยุ ปชส.8 วิทยุการเกษตร จำเลยที่ 1จึงไม่ใช่เจ้าพนักงาน โจทก์ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 รวมอยู่ด้วย ทั้งความผิดตามมาตรา 353 ก็มีโทษเบากว่าความผิดตามมาตรา 151 และ 157ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ และหากทางพิจารณาได้ข้อเท็จจริงเช่นนั้น ศาลย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามมาตรา 353 หรือไม่ ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลการจัดรายการของสถานีวิทยุ ปชส.8 วิทยุการเกษตรกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตนำเอาเวลาออกอากาศให้บ.เช่าจัดรายการ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรและเบียดบังเอาเงินค่าเช่าจาก บ.ไปเป็นของตนโดยไม่นำเงินส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของสถานีวิทยุดังกล่าว โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้รับมอบหมายและมิได้มีหน้าที่เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 แต่ได้ช่วยเหลือและให้ความสะดวกก่อนและขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 และการกระทำของจำเลยที่ 2เป็นความผิดตามมาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 86
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานเผยแพร่ 7 หัวหน้าฝ่ายวิทยุการเกษตรกองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบจัดการควบคุมดูแลการจัดรายการของสถานีวิทยุ ปชส.8 วิทยุการเกษตรของกองเกษตรสัมพันธ์ ซึ่งเป็นส่วนราชการของกรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวมทั้งให้มีหน้าที่เสนอความเห็นกรณีมีผู้ขอเช่าเวลาของสถานีวิทยุ ปชส.8 วิทยุการเกษตร เพื่อให้อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรพิจารณาอนุมัติการเช่าเวลาแต่จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจอนุญาตหรืออนุมัติให้ผู้ใดเช่าเวลาของสถานีวิทยุดังกล่าวได้ เมื่อระหว่างต้นปี 2525 ถึง 2528 ติดต่อกันจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตนำเอาเวลาออกอากาศจัดรายการของสถานีวิทยุดังกล่าวในช่วงเวลาระหว่าง9 ถึง 9.30 นาฬิกา 9.30 ถึง 10 นาฬิกา และ 18.15ถึง 18.30 นาฬิกา หรือ 18.35 นาฬิกา ทุกวันจันทร์ถึงวันเสาร์ไปให้นายบุญลือ ทับเหมือน เช่าจัดรายการโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าเวลาจัดรายการเป็นหนังสืออีกทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้มีสิทธิกระทำการดังกล่าวได้ ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจนำเวลาออกอากาศของสถานีวิทยุไปให้ผู้อื่นเช่าจัดรายการตามระเบียบและกฎหมายได้ จำเลยที่ 1 ได้เรียกเก็บค่าเช่าเวลาจัดรายการจากนายบุญลือเป็นรายเดือน ช่วงเวลา 9 ถึง 10 นาฬิกา ค่าเช่าเดือนละ 5,000 ถึง 12,000 บาท ช่วงเวลา18.30 นาฬิกา ค่าเช่าเดือนละ 3,500 บาท และช่วงเวลา10 นาฬิกา ค่าเช่าเดือนละ 5,400 บาท จำเลยที่ 1 โดยทุจริตได้เบียดบังเอาเงินค่าเช่าเวลาจัดรายการจากนายบุญลือจำนวน 347,000 บาท ไปเป็นประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินดังกล่าวส่งเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดินทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต่อมาระหว่างเดือนมกราคม 2527 ถึงธันวาคม 2528 ติดต่อกันจำเลยที่ 1 ได้นำเอาเวลาออกอากาศของสถานีวิทยุการเกษตรในช่วงเวลา 10 ถึง 10.30 นาฬิกา ไปให้นายสำเนียง ม่วงทองเช่าจัดรายการโดยทำหนังสือสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรแต่นายสำเนียงมอบให้นายบุญลือนำไปจัดรายการชื่อรายการ”ขเชนทร์ รัตนชัย” เช่นเดิม โดยเรียกเก็บค่าเช่าเดือนละ5,500 บาท ต่อมาปี 2528 เพิ่มอัตราค่าเช่าเป็นเดือนละ 6,500 บาท โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมส่งเสริมการเกษตรและไม่มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 โดยทุจริตได้เบียดบังเอาเงินค่าเช่าเวลาจัดรายการจำนวน 144,000 บาทเป็นประโยชน์ของตนโดยไม่นำเงินดังกล่าวส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตนำเอาเวลาออกอากาศของสถานีวิทยุการเกษตรซึ่งตนมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลและจัดการผลประโยชน์ของทางราชการไปให้ผู้อื่นเช่าจัดรายการโดยไม่มีอำนาจและไม่มีสิทธิที่จะทำได้โดยชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย เมื่อเรียกเก็บเงินค่าเช่าได้แล้วได้เบียดบังเอาเงินค่าเช่าจำนวน 541,000 บาท เป็นประโยชน์ของตนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ 4 ฝ่ายวิทยุการเกษตร กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและจัดแผนผังรายการกระจายเสียงประจำวันของสถานีวิทยุการเกษตร จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้มีหน้าที่เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1ได้รู้เห็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยนำเอาเวลาออกรายการของสถานีวิทยุไปให้ผู้อื่นเช่าจัดรายการโดยไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่ขัดขวางและรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบกลับร่วมกับจำเลยที่ 1โดยช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดดังกล่าว โดยช่วยรับเงินค่าเช่าเวลาออกอากาศดังกล่าวจากผู้เช่าเวลาทั้งสองรายแล้วร่วมกันเบียดยังยักยอกเงินค่าเช่าไปเป็นของจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้นำเงินดังกล่าวไปฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1เป็นประจำการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการให้ความช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ก่อนและขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157, 86, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 รวม 3 กระทง แต่ละกระทงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปีรวมจำคุก 15 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 ประกอบด้วยมาตรา 86 รวม 3 กระทง แต่ละกระทงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151ประกอบด้วยมาตรา 86 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือนรวมจำคุก 10 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดรวม2 กระทง รวมจำคุก 10 ปี จำเลยที่ 2 กระทำผิดรวม 2 กระทงรวมจำคุก 6 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 หรือไม่ เห็นว่าตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2533 ไม่ได้บัญญัติให้สถานีวิทยุ ปชส.8 วิทยุการเกษตรเป็นส่วนราชการของกรมส่งเสริมการเกษตรแต่อย่างใดและจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านจัดรายการของสถานีวิทยุ ปชส.8 วิทยุการเกษตรตามคำสั่งแต่งตั้งของอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร มิใช่ถูกแต่งตั้งอย่างข้าราชการ ไม่มีการสอบคัดเลือก ไม่ต้องรับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) การถอดถอนหรือให้ออกจากตำแหน่งเป็นไปตามที่อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเห็นสมควร ฐานะของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ดำเนินงานของสถานีวิทยุ ปชส.8 วิทยุการเกษตร ตามมติของคณะกรรมการดำเนินงานสถานีวิทยุ ปชส.8 วิทยุการเกษตร จำเลยที่ 1จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามนัยแห่งบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 จำเลยที่ 2ย่อมเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่ในตัวเช่นกันที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิดและจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เมื่อพิเคราะห์ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ จะเห็นได้ว่าโจทก์ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 รวมอยู่ด้วยทั้งความผิดตามมาตรา 353 ก็มีโทษเบากว่าความผิดตามมาตรา 151 และ 157อีกด้วย หากพิจารณาได้ข้อเท็จจริงเช่นนั้น แม้จะมิใช่ความผิดตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรงและมิใช่บทมาตราที่โจทก์ขอให้ลงโทษ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามมาตรา 353 หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย
ปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามาตรา 353 หรือไม่นั้นศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลการจัดรายการของสถานีวิทยุปชส.8 วิทยุการเกษตร กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตนำเอาเวลาออกอากาศช่วงเวลา 9 นาฬิกา ถึง 10 นาฬิกาและเวลาออกอากาศช่วงเวลา 18.15 นาฬิกา ถึง 18.30 นาฬิกาทุกวันจันทร์ถึงวันเสาร์ให้นายบุญลือ ทับเหมือน เช่าจัดรายการใช้ชื่อว่าขเชนทร์ รัตนชัย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และ เบียดบังเอาเงินค่าเช่าจากนายบุญลือไปเป็นของตนโดยไม่นำเงินส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของสถานีวิทยุดังกล่าว และยินยอมให้นายบุญลือมาเช่าเวลาจัดรายการแทนนายสำเนียง ม่วงทอง ในช่วงเวลา10 นาฬิกา ถึง 10.30 นาฬิกา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสถานีวิทยุเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน และจำเลยที่ 1ได้เบียดบังเอาเงินค่าเช่าเวลาจัดรายการไปเป็นประโยชน์ของตนโดยไม่นำเงินส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของสถานีวิทยุดังกล่าว โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้รับมอบหมายและมิได้มีหน้าที่เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 แต่ได้ช่วยเหลือและให้ความสะดวกก่อนและขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 และการกระทำของจำเลยที่ 2เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 86 ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 เป็นการกระทำความผิดรวม2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมเป็นจำคุก 3 ปีจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353ประกอบด้วยมาตรา 86 จำเลยที่ 2 กระทำความผิด 2 กระทงให้จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมเป็นจำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก