แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นและทางภารจำยอม โดยบรรยายถึงความเป็นมาและสภาพที่ดินโจทก์จำเลยว่ามีอาณาเขตติดต่อกันและติดต่อกับที่ดินแปลงอื่นอย่างไร มีทางใช้เข้าออกที่ดินของโจทก์ที่ใดบ้าง และกล่าวถึงเหตุผลที่ทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมและทางจำเป็นอย่างไร กับแนบแผนที่สังเขปมาท้ายฟ้องโดยแผนที่ดังกล่าวได้ระบายสีพร้อมทั้งมีบันทึกและเครื่องหมายบอกรายละเอียดเกี่ยวกับแนวเขตที่ดินโจทก์จำเลยกับทางพิพาทและเครื่องหมายแสดงทิศไว้ด้วย ซึ่งเมื่อดูประกอบกันแล้วสามารถเข้าใจได้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโดยเฉพาะจำเลยซึ่งมีที่ดินอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์จะต้องเข้าใจได้เป็นอย่างดี ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์เดินผ่านทางพิพาทเกินกว่า 10 ปี ด้วยความสงบเปิดเผยและเจตนาที่จะใช้เป็นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ตลอดมาโจทก์จึงได้สิทธิภารจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองร่วมกับผู้มีชื่อในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 376 ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 1 งาน 65 ตารางวาปรากฏตามแผนที่ภายในเส้นสีน้ำเงิน หมายเลข 1 ท้ายคำฟ้องจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 372 ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรีเนื้อที่ 1 งาน 14 ตารางวา ปรากฏตามแผนที่ภายในเส้นสีเหลืองท้ายคำฟ้อง เมื่อประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. 2509 จำเลยแบ่งขายที่ดินภายในเส้นสีน้ำตาล คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 375 ตำบลคูบัว เนื้อที่ 35 ตารางวา ให้โจทก์ เดิมที่ดินของโจทก์จำเลยดังกล่าวยังไม่มีหนังสือสำคัญ เจ้าพนักงานที่ดินเพิ่งออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เมื่อ พ.ศ. 2521 ทิศเหนือของที่ดินจำเลยจดทางสาธารณะ ทิศใต้จดที่ดินโจทก์ ที่ดินโจทก์ไม่มีทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะ เพราะมีที่ดินอื่นล้อมรอบ โจทก์เดินและใช้รถจักรยานยนต์ผ่านที่ดินของจำเลยเป็นทางขนาดกว้างประมาณ 2 เมตรยาวประมาณ 10 เมตร ปรากฏตามรูปแผนที่ท้ายฟ้องภายในเส้นสีแดงออกสู่ทางสาธารณะด้วยความสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ครั้งยังเป็นที่ดินมือเปล่า เป็นเวลานานประมาณ 19 ปีแล้วและโจทก์ได้นำหินฝุ่นและดินลูกรังมาถมทางเดินดังกล่าวให้สูงขึ้นกว่าเดิม 10 เซนติเมตรด้วย ทางดังกล่าวจึงเป็นทางภารจำยอมและทางจำเป็น เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2528 จำเลยทำประตูสังกะสีกั้นทางเดิน ปรากฏตามหมายอักษร ก. และ ข.ตามแผนที่ท้ายคำฟ้องทำให้โจทก์ไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ขอให้พิพากษาให้ที่ดินของจำเลยตาม น.ส.3 เลขที่ 372 ตามรูปแผนที่ท้ายคำฟ้องภายในเส้นสีแดงกว้าง 2 เมตร ยาว 10 เมตร ตกเป็นทางภารจำยอมและทางจำเป็นของที่ดินโจทก์ บังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งกีดขวางต่าง ๆออกให้พ้นทาง ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอน ก็ขอให้โจทก์รื้อถอนเองด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย จำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยยกที่ดินส่วนหนึ่งส่วนใดในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 372 ตำบลคูบัว ให้เป็นทางผ่านสู่ทางสาธารณะแก่โจทก์ ที่ดินของโจทก์ทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีถนนสาธารณะตัดผ่านข้างที่ดิน และโจทก์ใช้ทางทั้งสองเส้นนี้เป็นทางออกจากที่ดินของโจทก์มาโดยตลอดโดยได้ทำประตูเข้าออกไว้ทั้งสองด้านเมื่อ 5-6 ปีมานี้โจทก์กั้นรั้วตามแนวเขตระหว่างที่ดินโจทก์จำเลย จนกระทั่งเมื่อต้นปี พ.ศ. 2528 โจทก์จำเลยมีปากเสียงกัน จำเลยจึงกั้นรั้วด้านใต้ที่ดินจำเลยเพื่อป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินภายในบ้านสูญหาย โจทก์ไม่ได้ใช้ทางเดินผ่านที่ดินจำเลย กว้าง 2 เมตร ยาว10 เมตร เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ เดิมเมื่อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 375 เป็นของจำเลย จำเลยก็ใช้ทางเดินผ่านออกสู่ทางสาธารณะด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกมาโดยตลอด เมื่อโจทก์รับโอนสิทธิครอบครองไปจากจำเลย โจทก์ก็ยังใช้ทางเดินด้านตะวันตกและตะวันออกทางเดินในที่ดินจำเลยไม่ตกเป็นภารจำยอมหรือทางจำเป็น ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้จำเลยทราบว่าทางเดินผ่านที่ดินจำเลยคือที่ดินส่วนใด ผ่านที่ดินของจำเลยทางด้านทิศใดและออกสู่ถนนด้านทิศใด ที่ดินจำเลยแห่งใดตกเป็นภารจำยอมหรือทางจำเป็นแก่โจทก์ รูปแผนที่ท้ายคำฟ้องก็ไม่บรรยายว่าโจทก์เดินออกจากทางใดสู่ถนนสาธารณะด้านใด จำเลยไม่เข้าใจคำฟ้องของโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 372 ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรีเฉพาะส่วนตามแผนที่พิพาทภายในเส้นสีแดงกว้าง 2 เมตร ยาว 10 เมตรตกเป็นทางภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยรื้อสิ่งกีดกั้นขวางทางดังกล่าวออกไปจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยเปิดทางเดินซึ่งผ่านที่ดินของจำเลย เนื่องจากทางตามฟ้องเป็นทั้งทางจำเป็นและทางภารจำยอม ดังนั้นการที่ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงความเป็นมาและสภาพของที่ดินโจทก์และที่ดินจำเลยว่ามีอาณาเขตติดต่อกันและติดต่อกับที่ดินแปลงอื่นอย่างไร มีทางที่ใช้เข้าออกที่ดินของโจทก์ที่ใดบ้าง และกล่าวถึงเหตุผลที่ทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมและทางจำเป็นอย่างไร โดยโจทก์ได้แนบแผนที่สังเขปมาท้ายคำฟ้องด้วย ซึ่งแผนที่ดังกล่าวโจทก์ได้ระบายสีแยกไว้เป็นส่วน ๆ เห็นได้ชัด พร้อมทั้งมีบันทึกและเครื่องหมายบอกรายละเอียดไว้ด้วยอย่างชัดเจนแล้วว่าตรงส่วนไหนเป็นที่ดินของโจทก์ส่วนไหนเป็นที่ดินจำเลย ตรงส่วนที่มีเครื่องหมายเป็นที่ดินของโจทก์ ส่วนไหนเป็นที่ดินจำเลย ตรงส่วนที่มีเครื่องหมายสีแดงก็ระบุไว้ว่าเป็นทางภารจำยอมและทางจำเป็น ทั้งมีเครื่องหมายที่แสดงทิศทั้งสี่ไว้ทางด้านซ้ายมือของแผนที่พิพาทอีกด้วย ซึ่งเมื่อดูประกอบกันแล้วสามารถเข้าใจได้แจ้งชัดทั้งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว โดยเฉพาะจำเลยซึ่งมีที่ดินอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์จะต้องเข้าใจได้เป็นอย่างดีฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ทางเดินพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยกับนายบุญสืบ สมจิตต์ บุตรจำเลยต่างก็มาเบิกความเป็นพยานจำเลยได้ความว่า มีการแลกเปลี่ยนที่ดินกันจริงระหว่างโจทก์กับจำเลย ทางพิพาทอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินจำเลย จำเลยเดินไปที่บ้านเพื่อบ้านโดยผ่านที่คนอื่นเพราะอาศัยกัน จำเลยให้โจทก์ใช้อาศัยเดินในทางพิพาท ระหว่างที่ดินจำเลยกับที่ดินโจทก์มีรั้วกั้นโจทก์ทำประตูเปิดเข้าออกไว้ตรงทางพิพาท ต่อมาที่บ้านจำเลยทรัพย์สินหาย จำเลยกับโจทก์ทะเลาะกันจำเลยจึงบอกโจทก์ว่าขอปิดประตูทางพิพาทเพื่อป้องกันขโมยข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ก่อนโจทก์กับจำเลยเกิดทะเลาะกัน โจทก์ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินผ่านเข้าออกที่ดินของโจทก์ตลอดมา ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์ใช้ทางเดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลยหรือไม่ข้อเท็จจริงรับกันว่าการตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้น โจทก์ยอมตกลงเอาที่ดินแปลงบนที่ซื้อมาจากนายสนับตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 372 ซึ่งมีจำนวนเนื้อที่ถึง 79 ตารางวา แลกเปลี่ยนกับที่ดินแปลงล่างของจำเลยตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 375 ซึ่งมีจำนวนเนื้อที่เพียง35 ตารางวา จะเห็นได้ว่าจำนวนเนื้อที่ดินแปลงล่างที่โจทก์ยอมรับแลกเปลี่ยนน้อยกว่าแปลงบนกว่าครึ่งหนึ่ง อีกทั้งที่ดินแปลงบนก็อยู่ติดกับทางสาธารณประโยชน์ด้วย นอกจากนี้รั้วเล้าไก่ และต้นไม้ที่จำเลยทำและปลูกขึ้นภายหลังจากตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกับโจทก์แล้วล้วนแต่กระทำขึ้นโดยเว้นทางพิพาทไว้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจำเลยได้กระทำโดยกันเอาทางพิพาทไว้นอกเขตบริเวณบ้านจำเลยทั้งสิ้นพฤติการณ์ดังกล่าวมีเหตุผลให้เชื่อถือได้ตามทางนำสืบของโจทก์ที่ว่า ในการตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกัน โจทก์จำเลยได้ตกลงด้วยวาจาให้ทางพิพาทเป็นทางเดินของโจทก์ด้วย การใช้ทางเดินพิพาทของโจทก์จึงเป็นการใช้อย่างเป็นเจ้าของตามข้อตกลงดังกล่าว หาใช่เป็นการอาศัยสิทธิของจำเลยไม่ ปัญหาต่อไปจึงมีว่า โจทก์เดินผ่านทางพิพาทเป็นเวลาถึงสิบปีหรือไม่ โจทก์เบิกความยืนยันว่าเมื่อซื้อที่ดินจากนายสนับและแลกเปลี่ยนที่ดินกับจำเลยเมื่อ พ.ศ. 2509 แล้วโจทก์ได้ล้อมรั้วระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลย ตรงทางเดินพิพาทโจทก์ทำเป็นประตูเดินเข้าออกไว้และใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินกับใช้รถสาลี่เข็นของเข้าออกด้วยความสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของทางพิพาทจนถึงเดือน พฤษภาคม 2528 จำเลยจึงปิดกั้นทางพิพาท นับเวลาได้ 19 ปีแล้วนอกจากนี้โจทก์ยังมีนายสนับ พิบูลแถว นางทองหล่อเจิมพวงผล และนายเที่ยง สุขเกษม มาเป็นพยาน สำหรับนายเที่ยงมีตำแหน่งเป็นกำนันตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรีซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยต่างเป็นลูกบ้านของนายเที่ยง พยานทั้งสามปากนี้เบิกความสรุปได้สาระสำคัญตรงกันว่า ทางพิพาทเป็นทางที่โจทก์ใช้เป็นทางเดินผ่านที่ดินจำเลยเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้วพยานใช้ทางพิพาทเดินไปมาหาสู่โจทก์ไม่เคยมีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านโจทก์ล้อมรั้วบ้านและทำประตูตรงทางพิพาทไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2509พยานโจทก์ทั้งสามปากนี้ต่างไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่ามาเบิกความไปตามที่รู้เห็น พยานหลักฐานของโจทก์มีทั้งพยานบุคคลภาพถ่าย และพยานเอกสารประกอบด้วยเหตุผลมีน้ำหนักมั่นคง ไม่มีตอนใดขัดต่อเหตุผล จึงน่าเชื่อถือกว่าพยานจำเลยซึ่งเบิกความลอย ๆไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นมาสนับสนุน และจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างในเรื่องที่เกี่ยวกับระยะเวลาที่โจทก์เดินผ่านทางพิพาท ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เดินผ่านทางพิพาทเป็นเวลา 19 ปี ซึ่งเป็นเวลาเกินกว่า10 ปี ด้วยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาที่จะให้เป็นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ตลอดมา โจทก์จึงได้สิทธิภารจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382”
พิพากษายืน