แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนคนร้ายซึ่งมีจำนวนหลายคนบังคับให้ผู้เสียหายทั้งสองนอนคว่ำหน้าลงกับพื้นโอกาสที่ผู้เสียหายทั้งสองจะเห็นหน้าคนร้ายได้ชัดเจนจึงเป็นไปได้น้อยมากแม้ผู้เสียหายทั้งสองจะเบิกความว่าคนร้ายที่ตนจำได้คือจำเลยที่4แต่คนร้ายดังกล่าวสวมหมวกไอ้โม่งปิดถึงหน้าผากยิ่งทำให้ยากแก่การจดจำเพราะไม่ปรากฏว่าคนร้ายดังกล่าวมีหน้าตาเป็นตำหนิผิดแผกแตกต่างไปจากบุคคลทั่วไปคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสองจึงมีน้ำหนักน้อยนอกจากนี้ผู้เสียหายทั้งสองยังเบิกความแตกต่างขัดแย้งกันแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายทั้งสองจำคนร้ายสับสนเพราะมีด้วยกันหลายคนเมื่อคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวมีพิรุธสงสัยลำพังคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่4จึงนำมารับฟังลงโทษจำเลยที่4ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 83, 91, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืน กระสุนปืนรถยนต์ และยาเบื่อสุนัขของกลาง และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 24,501 บาทแก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 4ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี,371, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง,8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษ ฐานปล้นทรัพย์จำคุกคนละ 18 ปี ฐานมีอาวุธปืนจำคุกคนละ 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 20 ปีจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ กับคำให้การของจำเลยที่ 4 ในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กึ่งหนึ่ง และจำเลยที่ 4 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3คนละ 10 ปี จำเลยที่ 4 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน ริบอาวุธปืนกระสุนปืน และยากำจัดแมลงของกลาง คืนรถยนต์กระบะของกลางแก่เจ้าของและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 24,501 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และร่วมกันพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายแล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวปล้นเอาทรัพย์สินตามฟ้องของนายเสน่ห์และนางบูรณ์น้อย รัตนมณี ผู้เสียหายทั้งสองไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ โจทก์มีนายเสน่ห์ผู้เสียหายที่ 1 และนางบูรณ์น้อยผู้เสียหายที่ 2 เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 2 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสองนอนหลับอยู่ในห้องนอนภายในบ้าน จำเลยทั้งสี่กับพวกเข้ามาในห้องนอนและยืนล้อมผู้เสียหายทั้งสองไว้ จำเลยที่ 4 ฉายไฟฉายมาที่ใบหน้าของผู้เสียหายทั้งสอง จากนั้นบังคับให้ผู้เสียหายทั้งสองออกจากห้องนอนและให้นอนคว่ำหน้าลงกับพื้นแล้วมัดมือและเท้าของผู้เสียหายทั้งสองไว้ จำเลยทั้งสี่กับพวกค้นหาทรัพย์สินภายในบ้านและได้ทรัพย์สินที่ตัวผู้เสียหายที่ 2 แล้วจึงหลบหนี ผู้เสียหายทั้งสองจำหน้าจำเลยที่ 4 ได้ จากแสงไฟฉายที่จำเลยที่ 4 ถืออยู่แสงสว่างจากหลอดไฟนีออนที่เปิดทิ้งไว้นอกบ้านและแสงสว่างจากตู้เย็นที่จำเลยทั้งสี่กับพวกเปิดทิ้งไว้ ตามคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสองดังกล่าวจะมีน้ำหนักให้รับฟังได้หรือไม่เพียงใดเห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน คนร้ายมีจำนวนหลายคนอีกทั้งคนร้ายบังคับให้ผู้เสียหายทั้งสองนอนคว่ำหน้าลงกับพื้นโอกาสที่ผู้เสียหายทั้งสองจะเห็นหน้าคนร้ายได้ชัดเจนจึงเป็นไปได้น้อยมากประกอบกับได้ความจากผู้เสียหายทั้งสองว่า คนร้ายที่ผู้เสียหายทั้งสองจำได้ว่าเป็นจำเลยที่ 4 นั้น สวมหมวกไอ้โม่งปิดถึงหน้าผาก ยิ่งทำให้ยากแก่การจดจำ เพราะจากคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสองไม่ปรากฏว่าคนร้ายคนดังกล่าวมีหน้าตาเป็นตำหนิผิดแผกแตกต่างไปจากบุคคลทั่วไป ที่ผู้เสียหายทั้งสองเบิกความว่าจำได้ว่าคนร้ายคนดังกล่าวเป็นจำเลยที่ 4 จึงมีน้ำหนักน้อย นอกจากนี้ผู้เสียหายทั้งสองก็เบิกความแตกต่างขัดแย้งกัน กล่าวคือผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 4 ถือไฟฉายและถืออาวุธปืนส่วนผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 4 ถือไฟฉายและถือมีดแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายทั้งสองจำคนร้ายสับสนเพราะคนร้ายมีด้วยกันหลายคน เมื่อคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวมีพิรุธสงสัยลำพังคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนซึ่งจำเลยที่ 4 ปฏิเสธในชั้นพิจารณาว่าไม่ได้ให้การด้วยความสมัครใจ จึงนำมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 4 ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน