คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3159/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขนแร่ดีบุกซึ่งแต่งและย่าง แห้งแล้วบรรจุไว้ในกระสอบที่มีน้ำหนักเท่ากันจำนวนถึง 853 กระสอบ จากบนบก ลง เรือหางยาวนำไปเก็บไว้บนแพซึ่งจอดอยู่กลางทะเลลึกห่างจากฝั่งถึง 2 กิโลเมตรเพื่อรอเรือใหญ่มาขนต่อไปอีกทอดหนึ่ง โดยแพก็มีเครื่องยนต์ถึง 2เครื่อง ซึ่งสามารถนำแร่ดีบุกต่อไปยังเรือใหญ่เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรได้โดยง่าย แสดงว่าจำเลยมีเจตนาลักลอบส่งแร่ดีบุกออกนอกราชอาณาจักร และถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักร ความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 129152 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 23 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27102 ตรี เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และการพิจารณาว่าบทกฎหมายใดเป็นบทหนักหรือเบากว่ากันนั้นจะต้องพิเคราะห์จากอัตราโทษจำคุก ปรากฏว่าโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 152 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 23 กับโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรี นั้น มีอัตราโทษสูงสุดเท่ากันคือจำคุกไม่เกิน 10 ปี แต่ความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 27มีอัตราโทษเท่ากับการทำความผิดสำเร็จ ดังนั้น โทษจำคุกตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ดังกล่าวจึงหนักกว่าโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติแร่ฯ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีแร่ดีบุกจำนวน 853 กระสอบน้ำหนัก 32,983.51 กิโลกรัม ราคา 7,002,168.35 บาท ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งสองได้นำแร่ดังกล่าวไปซุกซ่อนไว้บนแพในทะเลเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร อันเป็นการพยายามหลบหนีภาษีศุลกากรหลีกเลี่ยงข้อจำกัดในการส่งออกและพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักร ทั้งจำเลยทั้งสองได้เก็บแร่ไว้บนแพเป็นการฝ่าฝืนประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2517) ฯ ด้วย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 17, 105, 129, 133 ทวิ,148, 152, 155 ฯ กฎกระทรวงฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2517)พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 32, 102 ตรีฯประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 90 ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับและเงินรางวัลตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ไม่ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานมีแร่เกิสองกิโลกรัมไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และเก็บแร่ไว้บนแพอันเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2517) ฯ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีแร่เกินสองกิโลกรัมไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด คงปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 14,000,000 บาท ริบแร่ของกลางและจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับ และเงินรางวัลแก่ผู้จับตามกฎหมายถ้าไม่ชำระค่าปรับให้กักขังเป็นเวลาสองปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานพยายามนำแร่ดีบุกซึ่งยังไม่ผ่านศุลกากรออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกระทงหนึ่ง
จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานมีแร่เกินสองกิโลกรัมไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและเก็บแร่ไว้โดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ และการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการพยายามลักลอบนำแร่ของกลางออกนอกราชอาณาจักรด้วยหรือไม่ สำหรับ ปัญหาแรกนั้น…ฯลฯ… กรณีจึงเชื่อได้ว่า แร่ดีบุกของกลางมิใช่เป็นแร่ที่จำเลยที่ 2 ขุดได้ในเขตสัมปทานขององค์การเหมืองแร่ทางทะเล ยิ่งเมื่อพิจารณาประกอบคำนายเสรีและนายต้อยที่ยืนยันว่าได้เห็นคนจำนวนหนึ่งขนแร่จากป่าริมฝั่งที่อ่าวจิกลงเรือหางยาวไปไว้บนแพของกลางแล้ว คดีฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ได้จัดให้มีการขนแร่จากฝั่งอ่าวจิก จังหวัดพังงา ไปซุกซ่อนไว้ในแพของกลาง ซึ่งในการเก็บแร่ไว้ในแพของกลางโดยไม่ได้รับอนุญาตของจำเลยที่ 2 เก็บไว้ในลักษณะปกปิดซ่อนเร้น สถานที่เก็บมีฝาปิดขันนอตอย่างแน่นหนาแล้วเอาไม้กระดานปิดทับและมีถังน้ำมันวางพรางตาไว้อีกชั้นหนึ่งการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดทั้งฐานมีแร่ดีบุกไว้ในครอบครองเกินกว่าสองกิโลกรัมโดยไม่ได้รับอนุญาต และเก็บแร่ในสถานที่เก็บแร่โดยไม่มีใบอนุญาต ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 2ในฐานนี้มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานพยายามส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักรด้วยการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรหรือไมได้พิเคราะห์คำร้อยตรีณรงค์ แสงสุริยงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ซึ่งทำหน้าที่ออกปราบปรามเกี่ยวกับการลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักรมาตั้งแต่ยังเป็นปลัดจังหวัดภูเก็ตที่เบิกความอย่างน่าเชื่อถือรับฟังว่า จากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีกับผู้กระทำความผิที่จะนำแร่ออกนอกราชอาณาจักร พอจะแยกได้เป็น 4 วิธี วิธีหนึ่งในสี่วิธีก็คือนำแร่ที่แต่งแล้วไปซุกซ่อนไว้ในแพหรือเรือที่ดูดดำแร่ต่อมาก็จะนำเรือใหญ่มาบรรทุกแร่ที่ซุกซ่อนดังกล่าวนั้นส่งออกนอกราชอาณาจักร เหตุนี้การที่จำเลยที่ 2 ขนแร่ดีบุกซึ่งแต่งและย่างแห้งแล้วโดยบรรจุไว้ในกระสอบน้ำหนักกระสอบละ 40 กิโลกรัมเท่ากัน มีจำนวนถึง 853 กระสอบ จากบนบกที่ฝั่งอ่าวจิกลงเรือหางยาวนำไปซุกซ่อนไว้ในลักษณะปกปิด และมีการกระทำเพื่อพรางการเก็บแร่ดีบุกเป็นอย่างดีบนแพซึ่งจอดอยู่กลางทะเลห่างจากฝั่งถึง2 กิโลเมตร ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 2 อย่างชัดแจ้งว่ากระทำไปเพื่อลักลอบส่งแร่ดีบุกออกนอกราชอาณาจักร ทั้งขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 และยึดแร่ดีบุกของกลางได้ จำเลยที่ 2 ได้นำแร่ดังกล่าวออกจากชายฝั่งซึ่งเป็นราชอาณาจักรไทยไปในทะเลลึกมีระยะทางถึง 2 กิโลเมตรแล้ว และแพของกลางก็มีเครื่องยนต์ถึง 2 เครื่องซึ่งสามารถนำแร่ต่อไปยังเรือใหญ่เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรได้โดยง่าย ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เลยชั้นตระเตรียมการแล้ว กล่าวคือ จำเลยที่ 2 ได้ลงมือนำแร่ดีบุกที่ยังมิได้เสียภาษีและเป็นของต้องจำกัดออกไปนอกพระราชอาณาจักรแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะต้องนำไปเก็บไว้บนแพกลางทะเลลึกเพื่อรอเรือใหญ่มาขนต่อไปอีกทอดหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ดีบุกที่ยังมิได้เสียภาษีและเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดออกไปนอกพระราชอาณาจักรแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น อนึ่งความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 129, 152แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 23และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 102 ตรี เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และการพิจารณาว่าบทกฎหมายใดเป็นบทหนักหรือเบา กว่ากันนั้น จะต้องพิเคราะห์จากอัตราโทษจำคุกปรากฏว่าโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 152 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 23กับโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรีนั้น มีอัตราโทษสูงสุดเท่ากันคือจำคุกไม่เกิน 10 ปี แต่ความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯมาตรา 27 มีอัตราโทษเท่ากับการทำความผิดสำเร็จ ดังนั้น โทษจำคุกตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ดังกล่าวจึงหนักกว่าโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติแร่ฯ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 129, 152ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522มาตรา 23 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 102 ตรีลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 102 ตรี ซึ่งเป็นบทหนัก อีกกระทงหนึ่ง ให้ปรับจำเลยที่ 2 เป็นจำนวนสี่เท่าของราคาของเป็นเงิน 28,008,673.40 บาท รวมลงโทษปรับจำเลยที่ 2จำนวน 43,008,673.40 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากกักขังแทนให้กักขังมีกำหนด 2 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share