คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3159/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยขนแร่ดีบุกซึ่งแต่งและย่างแห้งแล้วบรรจุไว้ในกระสอบที่มีน้ำหนักเท่ากันจำนวน 853 กระสอบ จากบนบก ลงเรือหางยาวนำไปเก็บไว้บนแพซึ่งจอดอยู่กลางทะเลลึกห่างจากฝั่งถึง 2 กิโลเมตร เพื่อรอเรือใหญ่มาขนต่อไปอีกทอดหนึ่ง โดยแพมีเครื่องยนต์ 2 เครื่องซึ่งสามารถนำแร่ดีบุกต่อไปยังเรือใหญ่เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรได้โดยง่ายแสดงว่าจำเลยมีเจตนาลักลอบส่งแร่ดีบุกออกนอกราชอาณาจักรและถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว จึงเป็นความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักร ความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 129,152 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 23 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27,102 ตรี เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และการพิจารณาว่าบทกฎหมายใดเป็นบทหนักหรือเบากว่านั้นจะต้องพิเคราะห์จากอัตราโทษจำคุกปรากฏว่า โทษจำคุกตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 152ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522มาตรา 23 กับโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 102 ตรี นั้น มีอัตราโทษสูงสุดเท่ากันคือจำคุกไม่เกิน10 ปี แต่ความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 มีอัตราโทษเท่ากับการกระทำความผิดสำเร็จดังนั้นโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 จึงหนักกว่าโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510มาตรา 17, 105, 129, 133 ทวิ, 148, 152, 155 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 มาตรา 9, 34พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 18, 21, 28กฎกระทรวง ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2517) ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ลงวันที่ 17 มกราคม 2517 พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27, 32, 102 ตรี พระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 83, 90 และสั่งริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับและเงินรางวัลแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ไม่ริบของกลาง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานมีแร่เกินสองกิโลกรัมไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และเก็บแร่ไว้บนแพอันเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2517) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งได้ประกาศตามกฎหมายแล้ว ตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 มาตรา 17, 105, 133 ทวิ, 148, 155 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 มาตรา 9, 34พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 18, 21, 28กฎกระทรวง ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2517) ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 ลงวันที่ 17 มกราคม 2517 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีแร่เกินสองกิโลกรัมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด คงปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน15,000,000 บาท ริบแร่ของกลางและจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับและเงินรางวัลแก่ผู้จับตามกฎหมาย ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้กักขังเป็นเวลาสองปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานพยายามนำแร่ดีบุกซึ่งยังไม่ผ่านศุลกากรออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอีกกระทงหนึ่ง จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานพยายามส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักรด้วยการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรหรือไม่ได้พิเคราะห์คำร้อยตรีณรงค์ แสงสุริยงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ซึ่งทำหน้าที่ออกปราบปรามเกี่ยวกับการลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักรมาตั้งแต่ยังเป็นปลัดจังหวัดภูเก็ตที่เบิกความอย่างน่าเชื่อถือ รับฟังว่า จากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีกับผู้กระทำความผิดที่จะนำแร่ออกนอกราชอาณาจักร พอจะแยกได้เป็น4 วิธี วิธีหนึ่งในสี่วิธีก็คือนำแร่ที่แต่งแล้วไปซุกซ่อนไว้ในแพหรือเรือที่ดูดดำแร่ ต่อมาก็จะนำเรือใหญ่มาบรรทุกแร่ที่ซุกซ่อนดังกล่าวนั้นส่งออกนอกราชอาณาจักร เหตุนี้การที่จำเลยที่ 2ขนแร่ดีบุกซึ่งแต่งและย่างแห้งแล้วโดยบรรจุไว้ในกระสอบน้ำหนักกระสอบละ 40 กิโลกรัม เท่ากันมีจำนวนถึง 853 กระสอบ จากบนบกที่ฝั่งอ่าวจิกลงเรือหางยาวนำไปซุกซ่อนไว้ในลักษณะปกปิด และมีการกระทำเพื่อพรางการเก็บแร่ดีบุกเป็นอย่างดีบนแพซึ่งจอดอยู่กลางทะเลห่างจากฝั่งถึง 2 กิโลเมตร ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 2 อย่างชัดแจ้งว่า กระทำไปเพื่อลักลอบส่งแร่ดีบุกออกนอกราชอาณาจักร ทั้งขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 และยึดแร่ดีบุกของกลางได้ จำเลยที่ 2 ได้นำแร่ดังกล่าวออกจากชายฝั่งซึ่งเป็นราชอาณาจักรไทยไปในทะเลลึกมีระยะทางถึง 2 กิโลเมตรแล้ว และแพของกลางก็มีเครื่องยนต์ถึง 2 เครื่องซึ่งสามารถนำแร่ต่อไปยังเรือใหญ่เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรได้โดยง่ายถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว กล่าวคือจำเลยที่ 2 ได้ลงมือนำแร่ดีบุกที่ยังมิได้เสียภาษีและเป็นของต้องจำกัดออกไปนอกพระราชอาณาจักรแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะต้องนำไปเก็บไว้บนแพกลางทะเลลึกเพื่อรอเรือใหญ่มาขนต่อไปอีกทอดหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ดีบุกที่ยังมิได้เสียภาษีและเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดออกไปนอกพระราชอาณาจักรแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นอนึ่ง ความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 129, 152 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 23 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 102 ตรี เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และการพิจารณาว่าบทกฎหมายใดเป็นบทหนักหรือเบากว่ากันนั้น จะต้องพิเคราะห์จากอัตราโทษจำคุกปรากฏว่าโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 152ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522มาตรา 23 กับโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 102 ตรี นั้นมีอัตราโทษสูงสุดเท่ากันคือจำคุกไม่เกิน 10 ปีแต่ความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 27 มีอัตราโทษเท่ากับการกระทำความผิดสำเร็จ ดังนั้น โทษจำคุกตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ดังกล่าวจึงหนักกว่าโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติแร่ฯ”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510มาตรา 129, 152 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2522 มาตรา 23 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27,102 ตรี ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27,102 ตรี ซึ่งเป็นบทหนักอีกกระทงหนึ่ง ให้ปรับจำเลยที่ 2 เป็นจำนวนสี่เท่าของราคาของเป็นเงิน 28,008,673.40 บาท รวมลงโทษปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 43,008,673.40 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากกักขังแทนให้กักขังมีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share