คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3154/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55มิได้หมายความว่าใครต้องการจะใช้สิทธิทางศาลก็ใช้ได้ตามอำเภอใจ แต่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาด้วยว่ามีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุนว่าเป็นกรณีจำเป็นจะต้องมาร้องขอต่อศาลเพื่อรับรองหรือคุ้มครองตามสิทธิของตนที่มีอยู่ จึงจะใช้สิทธิทางศาลได้
ผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งมีชื่อผู้อื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์อยู่ในทะเบียนที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ตราบใดที่ยังไม่จดทะเบียนให้ปรากฏในทะเบียนที่ดินว่าตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ย่อมไม่อาจดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ และอาจเสียสิทธิไปได้ถ้ามีบุคคลอื่นได้สิทธิในที่ดินนั้นโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตกับได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตดังนั้น เพื่อได้ให้ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามสิทธิของตนที่มีอยู่ในฐานะเจ้าของ กรรมสิทธิ์ จึงจำเป็นต้องดำเนินการให้ปรากฏขึ้นในทะเบียนที่ดินว่าตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และกฎกระทรวงฉบับที่ 7(พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ.2497 กำหนดว่าผู้ได้มาต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวดังนั้น บุคคลที่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตามมาตรา 1382 จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า ตนได้กรรมสิทธิ์เพื่อนำไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการจดทะเบียนส่วนที่ดินประเภทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินไม่มีกฎหมายบัญญัติดังกล่าวและผู้ยึดถือที่ดินดังกล่าวโดยเจตนายึดถือเพื่อตนย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินนั้นแล้วตามมาตรา 1367ทั้งกฎหมายก็ให้ความรับรองคุ้มครองสิทธิครอบครองและจำหน่ายจ่ายโอนได้ จึงไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดที่จะต้องมาร้องขอต่อศาล

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้รับที่ดินที่มณฑลทหารบกที่ 3 ได้จัดสรรให้แก่ข้าราชการมาจากบิดาซึ่งซึ่งมาจากสิบเอกเบ็ญจรงค์ ต่อมาคณะกรรมการจัดสรรแจ้งให้ผู้ครอบครองที่ดินยื่นคำขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ผู้ร้องจึงไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา แต่สำนักงานที่ดินไม่จัดการให้ อ้างว่าหลักฐานการจับจองยังเป็นชื่อของสิบเอกเบ็ญจรงค์ ให้ผู้ร้องไปยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งแสดงสิทธิครอบครองเสียก่อน ผู้ร้องจึงมีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอต่อศาล ขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว

ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องขอแล้ว มีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาล ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55บัญญัติไว้ความว่า “บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาล” เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวมิได้หมายความว่าเป็นเรื่องที่ใครต้องการจะใช้สิทธิทางศาลก็ใช้ได้ตามอำเภอใจแต่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาด้วยว่ามีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุนว่าเป็นกรณีจำเป็นจะต้องมาร้องขอต่อศาลเพื่อรับรองหรือคุ้มครองตามสิทธิของตนที่มีอยู่จึงจะใช้สิทธิทางศาลได้ ผู้ร้องฎีกาว่ากฎหมายที่สนับสนุนให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลขอแสดงสิทธิครอบครองได้คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 เพราะเป็นกรณีเช่นเดียวกับมาตรา 1382 ที่เป็นการใช้สิทธิทางศาลขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ได้นั้น เห็นว่า ทั้งสองกรณีดังกล่าวนั้นไม่เหมือนกันเพราะมาตรา 1382 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์” ซึ่งหมายความถึงอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินที่ทางราชการได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลใดอยู่แล้ว ซึ่งที่ดินประเภทนี้มาตรา 1373ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และมาตรา 1299 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้นถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร์ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว” ดังนั้นผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามมาตรา 1382 ตราบใดที่ยังไม่จดทะเบียนให้ปรากฏในทะเบียนที่ดินว่าตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ย่อมไม่อาจดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ และอาจจะเสียสิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ไปได้ถ้ามีบุคคลอื่นได้สิทธิในที่ดินนั้นโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต เพื่อประโยชน์ดังกล่าวและเพื่อได้รับการรับรองและคุ้มครองตามสิทธิของตนที่มีอยู่ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382 จึงจำเป็นต้องดำเนินการให้ปรากฏขึ้นในทะเบียนที่ดินว่าตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ซึ่งได้มาตามมาตรา 1382 ได้ กฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2497)ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 กำหนดไว้ในข้อ 8(1) ว่า ผู้ได้มาต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอันถึงที่สุดแสดงว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวนั้น ดังนั้นบุคคลที่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตามมาตรา 1382 จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่าตนได้กรรมสิทธิ์มาตามมาตรา 1382เพื่อนำไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการจดทะเบียนให้ปรากฏในทะเบียนที่ดินว่าตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ส่วนที่ดินประเภทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินไม่มีกฎหมายบัญญัติดังกล่าว และในฐานะที่ผู้ร้องเป็นผู้ยึดถือที่ดินโดยเจตนายึดถือเพื่อตน ผู้ร้องย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินนั้นแล้วตามมาตรา 1367ทั้งกฎหมายก็ให้ความรับรองคุ้มครองสิทธิครอบครองของผู้ร้องอยู่แล้วในการที่จะใช้ที่ดินนั้น ห้ามมิให้ผู้ใดรบกวนสิทธิครอบครองของตน ตลอดทั้งสิทธิตามเอาคืนซึ่งการครอบครองถ้าถูกแย่งการครอบครองตามมาตรา 1372, 1374, 1375ตามลำดับ และจำหน่ายจ่ายโอนได้ตามมาตรา 1378 จึงไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดที่จะต้องมาร้องขอต่อศาลส่วนการที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือสำคัญแสดงสิทธิหรือจดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินเป็นของผู้ร้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องไปดำเนินการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มิใช่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาลดังวินิจฉัยแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share