คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3154/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 35 มิได้มุ่งหมายให้ริบทรัพย์สินของบุคคลอื่น ที่มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดด้วย เมื่อศาลพิพากษาให้ริบช้างของกลางตามบทบัญญัตินี้ และผู้ร้องมาร้องขอให้ศาลสั่งคืนช้างของกลาง กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยใช้ช้างพังชักลากไม้หวงห้ามในป่าสงวนแห่งชาติโดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31, 35 ซึ่งเป็นบทหนักให้จำคุก 1 เดือน 15 วัน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 2 ปี และให้ริบช้าง โซ่ และไม้ของกลางคดีถึงที่สุดแล้ว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของช้างของกลาง มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของจำเลย ขอให้คืนช้างของกลางแก่ผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้คืนช้างของกลางแก่ผู้ร้อง

โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ขอให้ริบช้างและโซ่ของกลางตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 35 ซึ่งเป็นบทกฎหมายพิเศษบัญญัติให้ริบบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ฯลฯ ที่ใช้ในการกระทำผิดเสียทั้งสิ้น โดยไม่คำนึงว่าเป็นของผู้กระทำผิดหรือไม่ และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่มิได้ให้อำนาจศาลที่จะสั่งคืนทรัพย์ที่ศาลให้ริบแล้ว

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บทกฎหมายใดที่บัญญัติให้ริบทรัพย์ของบุคคลอื่นผู้มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดและทรัพย์นั้นไม่ใช่ทรัพย์ที่บุคคลทำหรือมีไว้เป็นความผิดแล้วย่อมขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 35 เป็นบทบัญญัติที่ให้ริบทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดด้วยไม่ได้กรณีตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอช้างของกลางคืนได้

พิพากษายืน

Share