คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทวงเงินจาก อ. ไม่ได้ จึงพาพวกไปทวงเงินจาก อ. ในเวลาที่ต่อเนื่องกัน เมื่อ อ. ไม่ยอมคืนเงินและไม่ยอมออกมาพบจึงใช้อำนาจบังคับโดยพลการเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปขณะนั้น แม้ข้อเท็จจริงปราฏว่าจำเลยที่ 1 กับพวกใช้กุญแจที่ไม่ใช้กุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางติดเครื่องยนต์นำรถจักรยานยนต์ของกลางออกไป อีกทั้งรถจักรยานยนต์ของกลางมีราคา 26,000 บาท สูงกว่าจำนวนหนี้ 300 บาท อยู่มากก็ตาม จำเลยที่ 1 กับพวกคงไม่ได้คิดว่ารถจักรยานยนต์ของกลางมีราคาสูงเท่าใด หากแต่ต้องการเพียงให้ อ. ที่จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์นำเงินมาชำระหนี้ตนเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงมิได้มีเจตนาเอารถจักรยานยนต์ของกลางไปโดยทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง และเหตุดังกล่าวเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีสำนวนนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 872/2545 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์เรียกจำเลยในสำนวนคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 และเรียกนายกิตติชัยหรือ กุ้ง ธีระกุล จำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 872/2545 ของศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทั้งสองสำนวน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1132/2543, 751/2544, 70/2545 และหมายเลขดำที่ 1380/2543 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83, 336 ทวิ จำคุกคนละ 4 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 2 ปี 8 เดือน นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1132/2543 จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 751/2544 จำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายแดงที่ 70/2545 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1380/2543 นั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังไม่ได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ คำขอนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยทั้งสามร่วมกันเอารถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนพัทลุง ต-4123 ของกลางของนายธนาวุฒิ มะอักษร ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายชัยวัฒน์ มะอักษร ผู้เสียหายไป ตอนสายของวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจพบรถจักรยานยนต์ของกลางจอดอยู่ที่สถานีบริการน้ำมัน พี.ที. สามแยกท่ามิหรำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เอารถจักรยานยนต์ของกลางไปโดยทุจริตหรือไม่ โจทก์มีนายชัยวัฒน์ มะอักษร ผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 3 นาฬิกา พยานกับพวกรวม 7 คน มีนายเอ็กด้วยนั่งดื่มเบียร์กันในบ้านได้ยินเสียงคนมาร้องเรียกนายเอ็กอยู่ที่หน้าบ้าน พวกพยานไม่มีใครขานรับและไม่ได้เปิดประตู แต่พยานเปิดม่านดูเห็นจำเลยทั้งสามช่วยกันเข็นรถจักรยานยนต์ของกลางออกไปทางวัดโคกศีรีและเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 ถามค้านว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้เคาะประตูรั้วเหล็กและร้องเรียกอยู่ที่หน้าบ้านประมาณเกือบครึ่งชั่วโมง พยานได้ยินจำเลยที่ 2 พูดทวงหนี้ที่นายเอ็กยืมเงินจำเลยที่ 1 ไป 300 บาท นายเอ็กไม่ยอมออกไปพบจำเลยที่ 2 เพราะไม่มีเงินชำระหนี้ให้ ก่อนที่จำเลยที่ 2 กับพวกจะเอารถของกลางไป จำเลยที่ 2 พูดว่าจะเอารถของกลางดังกล่าวไปเป็นประกันหนี้นายเอ็กและตอนเช้าให้ไปพบกันที่สถานีบริการน้ำมันสามแยกท่ามิหรำพยานกับพวกไม่ได้ห้ามจำเลยที่ 2 กับพวกแต่อย่างใด เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 กับพวกจะเอารถจักรยานยนต์ของกลางไป จำเลยที่ 2 ได้ร้องเรียกนายเอ็กและทวงหนี้ซึ่งผู้เสียหายกับพวกรวมทั้งนายเอ็กก็ได้ยินแต่ไม่มีผู้ใดออกมาพบจำเลยที่ 1 กับพวก โดยเฉพาะนายเอ็กไม่ยอมออกมาพบเพราะไม่มีเงินชำระหนี้ให้ เป็นข้อบ่งชี้ว่านายเอ็กเป็นหนี้พวกของจำเลยที่ 1 จริง การที่จำเลยที่ 1 กับพวกมาร้องเรียกนายเอ็กดังกล่าวก่อนเป็นเวลาพอสมควร เมื่อไม่มีผู้ใดออกมาพบจำเลยที่ 1 กับพวกมาร้องเรียกนายเอ็กดังกล่าวก่อนเป้นเวลาพอสมควร เมื่อไม่มีผู้ใดออกมาพบจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเอารถจักรยานยนต์ของกลางไป หากจำเลยที่ 1 กับพวกประสงค์จะลักรถจักรยานยนต์ของกลางมาตั้งแต่ต้นก็คงไม่ร้องเรียกเพื่อแสดงตัวเช่นนั้น เพราะผู้เสียหายกับพวกต่างรู้จักจำเลยทั้งสามมาก่อน ทั้งยังได้ความด้วยว่าในคืนเกิดเหตุมีรถจักรยานยนต์จอดอยู่ที่หน้าบ้านที่เกิดเหตุอีก 2 คัน แต่จำเลยที่ 1 กับพวกก็มิได้เอาไป คงเอาไปเฉพาะคันของกลางซึ่งจำเลยที่ 1 กับพวกเข้าใจว่าเป็นของนายเอ็กเพราะก่อนหน้านั้นเห็นนายเอ็กขับอยู่ ประกอบกับในวันรุ่งขึ้นเจ้าพนักงานตำรวจพบจักรยานยนต์ของกลางจอดอยู่ที่โรงจอดรถของสถานีบริการน้ำมัน พี.ที. สามแยกท่ามิหรำ ตามบันทึกการตรวจยึดรถจักรยานยนต์เอกสารหมาย จ.9 ตรงตามที่จำเลยที่ 2 บอกไว้แก่ผู้เสียหาย และรถจักรยานยนต์ดังกล่าวยังอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ แสดงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกเอารถจักรยานยนต์ของกลางไปโดยมีเจตนาให้นายเอ็กกับพวกไปติดต่อชำระหนี้ตามจำเลยที่ 1 นำสืบ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 กับพวกไปเอารถจักรยานยนต์ของกลางในเวลากลางคืน โดยใช้กุญแจที่ไม่ใช่กุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางติดเครื่องยนต์นำรถจักรยานยนต์ของกลางออกไป และรถจักรยานยนต์ของกลางมีราคา 26,000 บาท สูงกว่าจำนวนหนี้ 300 บาท อยู่มากนั้น ได้ความจากจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนเกิดเหตุเวลาประมาณ 23 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ทวงหนี้จากนายเอ็กครั้งหนึ่งแล้ว ขณะนั้นนายเอ็กขับรถจักรยานยนต์ของกลางอยู่ แต่นายเอ็กไม่ชำระหนี้ให้ บอกให้จำเลยที่ 1 มาเอาทีหลัง จำเลยที่ 1 จึงไปตามจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วพากันไปที่บ้านที่เกิดเหตุ กรณีน่าจะเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ต้องการเงินคืนเพื่อจะเอาไปเที่ยวดังจำเลยที่ 1 นำสืบ เมื่อทวงเงินจากนายเอ็กไม่ได้จำเลยที่ 1 จึงพาพวกคือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปพบนายเอ็กที่บ้านเกิดเหตุอันเป็นเวลาที่ต่อเนื่องกัน เมื่อนายเอ็กไม่ยอมคืนเงินและไม่ยอมออกมาพบ จำเลยที่ 1 กับพวกจึงใช้อำนาจบังคับโดยพลการเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปในขณะนั้น จำเลยที่ 1 กับพวกคงไม่ได้คิดว่ารถจักรยานยนต์ของกลางมีราคาสูงกว่าหนี้เท่าใด หากแต่ต้องการเพียงให้นายเอ็กที่จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางนำเงินมาชำระหนี้ให้ตนเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงมิได้มีเจตนาเอารถจักรยานยนต์ของกลางไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น และเหตุดังกล่าวเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน

Share