คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 315/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

รถคันพิพาทที่โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไป เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เชิดจำเลยที่ 1 ออกเป็นตัวแทนขายรถคันพิพาทให้โจทก์ จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ รถคันพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2ไม่มีนิติสัมพันธ์อันใดเกี่ยวกับรถคันพิพาทกับโจทก์ การโอนทะเบียนรถยนต์อันเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่จะปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกับโจทก์ สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนรถคันพิพาทเป็นชื่อโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อรถยนต์บรรทุกยี่ห้อดัทสันของจำเลยที่ 2 จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนหรือตัวเชิดของจำเลยที่ 2โดยชำระราคาด้วยเงินสดให้แก่นายประสาน กิจกล้า หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยทั้งสองได้รับเงินตามเช็คแล้วแต่ไม่จัดการจดทะเบียนรถโอนให้โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันไปจดทะเบียนโอนรถคันพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า นายประสาน กิจกล้า เช่าซื้อรถคันพิพาทจากจำเลยที่ 2 แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสัญญาเช่าซื้อระงับแล้ว จำเลยที่ 2 ฟ้องคดีขอให้บังคับนายประสานคืนรถคันพิพาท หรือชำระราคาและค่าเสียหายแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี แต่นายประสาน กิจกล้า ยังมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ไม่เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับชำระราคารถคันพิพาทจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดจำหน่ายรถยนต์ของจำเลยที่ 2 โจทก์ซื้อรถยนต์บรรทุกยี่ห้อดัทสันหมายเลขทะเบียน 8 น-8341 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 จากจำเลยที่ 1 โดยชำระราคารถด้วยเช็คเงินสดให้แก่นายประสาน กิจกล้าหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองได้รับเงินตามเช็คแล้ว แต่ไม่ไปจัดการขอจดทะเบียนรถและโอนให้โจทก์ตามสัญญาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนรถยนต์เป็นชื่อของโจทก์ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทน จำเลยที่ 1ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท นายประสาน กิจกล้าได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถคันพิพาทจากจำเลยที่ 2 แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อเป็นอันระงับแต่นายประสาน ไม่ส่งรถยนต์พิพาทคืน จำเลยที่ 2 ได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ขอให้บังคับนายประสาน คืนรถคันพิพาทหรือชำระราคารถและค่าเสียหาย ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้นายประสาน ส่งมอบรถคันพิพาทคืน มิฉะนั้นให้ใช้ราคาจำนวน 43,000 บาท แทนพร้อมค่าเสียหาย แต่นายประสานยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ไม่เคยติดต่อทางการค้าหรือเป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ และไม่เคยได้รับชำระเงินหรือเช็คจากโจทก์ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันทำการจดทะเบียนโอนรถยนต์ยี่ห้อดัทสันหมายเลขทะเบียน8 น-8341 กรุงเทพมหานครให้เป็นชื่อของโจทก์ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบมานั้นฟังได้เป็นยุติว่า รถยนต์คันพิพาทจำเลยที่ 2 ได้ให้นายประสานกิจกล้า เช่าซื้อไปแล้วไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วน จำเลยที่ 2ได้บอกเลิกสัญญา กับฟ้องเรียกให้นายประสาน คืนรถคันพิพาทและใช้ค่าเสียหายต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้นายประสาน คืนรถคันพิพาทให้จำเลยที่ 2 มิฉะนั้นให้ใช้ราคานายประสานเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 ได้ขายรถคันพิพาทให้โจทก์โดยได้รับชำระราคาจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 หรือไม่และจำเลยที่ 1 ได้ขายรถคันพิพาทให้โจทก์หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ตามคำเบิกความของตัวโจทก์ นางนิลวรรณโพธิอุโมงค์ และนายอุดม พิสูจน์ ได้ความว่า ในการซื้อขายรถคันพิพาทนั้นโจทก์ติดต่อซื้อขายกับนายประสานเท่านั้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เอกสารการติดต่อระหว่างโจทก์กับนายประสานในการชำระราคากันตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2ก็ไม่มีจำเลยที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คงได้ความตามคำของตัวโจทก์และนางนิลวรรณว่า นายประสานบอกว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งก็เป็นคำกล่าวของนายประสานโดยโจทก์ไม่มีพยานที่รู้เห็นว่าเป็นเช่นนั้นจริง ทั้งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นด้วยว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้ถึงพฤติการณ์ที่นายประสานหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แสดงออกว่าเป็นตัวแทน อันพอที่จะถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงออกว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนหรือรู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 แต่ประการใด นอกจากนั้นโจทก์เองก็เบิกความรับว่า ก่อนฟ้องคดีได้ทำบันทึกเอกสารหมาย ล.1 ให้ไว้กับจำเลยที่ 2 ในบันทึกดังกล่าวโจทก์รับว่านายประสานเป็นผู้เช่าซื้อรถคันพิพาทจากจำเลยที่ 2 และค้างชำระค่างวด และโจทก์จะได้ไปเจรจากับนายประสานต่อไป โดยไม่มีข้อความตอนใดในเอกสารดังกล่าวที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้เชิดจำเลยที่ 1 ออกเป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่ฟ้อง
ส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 ได้ขายรถคันพิพาทให้โจทก์หรือไม่นั้น ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาได้ความว่า นายประสานเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 เอกสารในการชำระราคาตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ก็ระบุว่าได้รับชำระราคาไว้ในนามของจำเลยที่ 1 จึงเชื่อได้ว่านายประสานในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายรถคันพิพาทกับโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาซื้อขาย แต่ที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนรถคันพิพาทให้โจทก์โดยการจดทะเบียนโอนรถเป็นชื่อของโจทก์ถ้าไม่ไปจดทะเบียนขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนนั้นเห็นว่า เมื่อรถคันพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์อันใดเกี่ยวกับรถคันพิพาทกับโจทก์ ดังนั้นการโอนทะเบียนรถยนต์อันเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่จะปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกับโจทก์ได้ต่อไป สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับตามคำขอของโจทก์ได้ ต้องยกคำขอของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ขอมา เมื่อโจทก์มิได้มีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในกรณีอื่นมาด้วย จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1รับผิดต่อโจทก์ได้ตามที่ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาภายในกำหนดอายุความ

Share