คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3149/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยประกอบธุรกิจการธนาคารซึ่งเป็นธุรกิจที่จะต้องเป็นที่เชื่อถือของประชาชนทั่วไป การที่โจทก์สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาโอนเงินจำเลยไปยังบัญชีต่าง ๆ ทั้งในสาขาเดียวกันและต่างสาขาย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าขณะที่มีการโอนเงินของจำเลยไปยังบัญชีทั้งหลายเหล่านั้น ตัวเงินย่อมจะต้องถูกหักจากจำเลยไปแล้ว และการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การกระทำของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในฐานะผู้จัดการสาขาซึ่งไม่มีอำนาจทำได้ ส่วนการที่ฝ่ายตรวจสอบและฝ่ายการพนักงานของจำเลยมีความเห็นว่าการโอนเงินไปก่อนแล้วค่อยรวมยอดตัดจากบัญชีของบิดาโจทก์คราวเดียวในตอนเย็นของวันเดียวกัน แม้จะไม่ถูกต้องตามระเบียบแต่ก็ไม่ปรากฏว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นเพียงความเห็นที่คำนึงเฉพาะด้านตัวเงินหรือดอกเบี้ยซึ่งไม่ได้สูญหาย แต่โดยทั่วไปแล้วย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยได้รับความเสียหายในด้านความเชื่อถือของประชาชน เพราะอาจมีกรณีเงินบัญชีของบิดาโจทก์ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้คืนจำเลยได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าการโอนเงินจากบัญชีของบิดาโจทก์ไปยังบัญชีต่าง ๆ อย่างถูกต้องนั้นมีเหตุขัดข้องหรือไม่สะดวกอย่างไร ประกอบกับการที่จำเลยประกอบธุรกิจด้านการเงินการธนาคาร ระเบียบข้อบังคับที่ให้ปฏิบัติเกี่ยวกับเงินในธนาคารจะต้องถือว่ามีส่วนสำคัญมากเพื่อให้ธุรกิจของจำเลยมีความมั่นคงเป็นที่เชื่อถือได้การกระทำที่ผิดระเบียบของโจทก์เช่นนี้ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการที่ถูกจำเลยมีคำสั่งปลดออกจากงาน และเป็นกรณีที่เข้าลักษณะตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4) จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 583 จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกด้วย
จำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหมวด 3ว่าด้วยเงินบำเหน็จพิเศษ กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยสำหรับผู้ที่ทำงานมาครบ 10 ปี ตามอัตราเงินเดือนที่กำหนดไว้ในข้อ 1 แต่ในข้อ 2 ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าเงินบำเหน็จดังกล่าวจะจ่ายให้เมื่อพนักงานหรือลูกจ้างผู้นั้นออกจากงาน เว้นแต่กรณีออกจากงานเพราะกระทำความผิดตามภาค 2 หมวด 3 ข้อ 3(1) หรือ (2) หรือ (3)ซึ่งหมายถึงการออกจากงานเพราะจำเลยมีคำสั่งไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จพิเศษ
ส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดไว้ในภาค 3 หมวด 2 ข้อ 2.7 วรรคสองว่า “ให้คณะกรรมการกองทุนฯ ดำเนินการดังนี้…2.7.2 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ทุกทอดของเงินสมทบให้แก่สมาชิก เว้นแต่… 2.7.2.1 สมาชิกที่ถูกลงโทษทางวินัยโดยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกโดยธนาคารมีคำสั่งงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ทั้งสิ้น” ดังนั้นเมื่อโจทก์ถูกจำเลยมีคำสั่งให้ออกจากงานโดยงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสมทบที่จำเลยนำเข้าบัญชีเงินกองทุนให้แก่โจทก์ โจทก์คงมีสิทธิได้รับเฉพาะส่วนที่โจทก์จ่ายในฐานะที่เป็นสมาชิก แต่แม้จำเลยได้ออกเอกสารซึ่งได้แยกให้เห็นว่าเงินส่วนหักจากพนักงานและเงินส่วนสมทบโดยจำเลยไว้ชัดแจ้ง เมื่อปรากฏว่าในส่วนเงินที่หักจากพนักงานนั้น โจทก์ได้รับแล้ว และจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานโดยงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินส่วนสมทบนี้ด้วย

Share