แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับบัญชีระบุพยานของโจทก์และไม่อนุญาตให้โจทก์สืบพยาน เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 แม้โจทก์จะได้ยื่นคำแถลงแจ้งเหตุขัดข้องและจำเป็นที่มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานภายในกำหนดและขอยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลชั้นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา 226(2) แล้วก็ตามแต่เมื่อโจทก์มิได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวมาในชั้นอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 แม้ผู้ร้องจะนำสืบพยานฝ่ายเดียว แต่ถ้าเป็นพยานที่มีน้ำหนักและเหตุผลเป็นที่เชื่อถือได้ ศาลก็ย่อมจะรับฟังพยานเช่นว่านั้นแล้ววินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายชนะคดีได้ โจทก์ฎีกาเพียงแต่ขอให้พิจารณาคดีใหม่ มิได้ฎีกาขอให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดี จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลสำนวนละ 200 บาท ตามตารางท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2(ข)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามตั๋วเงิน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม ต่อมาจำเลยไม่ยอมชำระเงินตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1385 เลขที่ 2846 และเลขที่ 3045 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งตั้งอยู่ตำบลแม่อาย อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ร้องทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด โจทก์ทั้งสองสำนวนขอให้ยกคำร้อง โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานน้อยกว่าสามวันศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยาน และไม่อนุญาตให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ ภายหลังจากที่ผู้ร้องสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ยื่นคำแถลงแจ้งเหตุขัดข้องที่ยื่นบัญชีระบุพยานล่าช้าและขอให้ศาลรับบัญชีระบุพยานของโจทก์ ผู้ร้องแถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นสั่งให้ยกคำแถลงแล้วพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาในประการแรกขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยรับบัญชีระบุพยานของโจทก์และให้โจทก์มีโอกาสนำพยานมาสืบนั้น เห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับบัญชีระบุพยานของโจทก์และไม่อนุญาตให้โจทก์สืบพยาน เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 แม้โจทก์จะได้ยื่นคำแถลงแจ้งเหตุขัดข้องและจำเป็นที่มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานภายในกำหนด และขอให้ยื่นบัญชีระบุพยานได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) แล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวมาในชั้นอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่โจทก์ฎีกาประการต่อมาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพียงพยานผู้ร้องฝ่ายเดียวโดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ เป็นการพิพากษาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะนำสืบพยานฝ่ายเดียวแต่ถ้าพยานนั้นมีน้ำหนักและเหตุผลเป็นที่เชื่อถือได้แล้ว ศาลก็ย่อมจะรับฟังพยานเช่นว่านั้นเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทได้ การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกคำพยานผู้ร้องขึ้นวินิจฉัยไปฝ่ายเดียว โดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนแล้วเช่นนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย สำหรับฎีกาโจทก์ข้ออื่น ๆ นอกจากนี้ล้วนแต่เป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ทั้งเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง คดีสองสำนวนนี้ โจทก์ฎีกาเพียงแต่ขอให้พิจารณาคดีใหม่มิได้ฎีกาขอให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดี จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลสำนวนละ 200 บาทรวม 400 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตาราง 1 ข้อ 2 ข แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาคิดตามจำนวนทุนทรัพย์ 266,086 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์”
พิพากษายืน