คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3148/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองเขียนจดหมายถึงโจทก์อ่านแล้วได้ความว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินโจทก์เพื่อสร้างบ้านให้เสร็จ การที่จำเลยทั้งสองเขียนชื่อเล่นของจำเลยทั้งสองไว้ในตอนท้าย จดหมายดังกล่าวด้วยตัวอักษรธรรมดา (หวัดแกมบรรจง) นั้น ถือว่าเป็นการลงลายมือชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 แล้ว
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2530)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นบุตรที่สาวโจทก์และเป็นสามีจำเลยที่ ๒ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๒๓ จำเลยทั้งสองร่วมกันขอกู้ยืมเงินโจทก์ ๒๔๐,๐๐๐ บาท ไม่มีดอกเบี้ย โจทก์ตกลงเมื่อกลับไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ โจทก์ส่งเงินมาให้จำเลยทั้งสองเป็นงวด ๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๒๘,๙๘๔ บาท ๘๗ สตางค์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนข้างต้นพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์รักใคร่จำเลยทั้งสองจึงตกลงให้เงินช่วยเหลือในการปลูกบ้าน ๑๒๐,๐๐๐ บาท โดยจะส่งให้เป็นคราว ๆ ตามที่จำเลยแจ้งไป จำเลยมีจดหมายไปขอเงินโจทก์หลายครั้ง รวมเป็นเงินที่โจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หา ๑๕๘,๑๒๖ บาท ๘๗ สตางค์ ส่วนเงิน ๗๐,๘๕๘ บาท เป็นเงินฝากเพื่อซื้อเครื่องใช้เครื่องนอนเมื่อโจทก์และสามีจะเดินทางมาพักผ่อนที่ประเทศไทยซึ่งโจทก์ได้รับคืนไปแล้วจำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๒๒๔,๙๘๔ บาท ๘๗ สตางค์ ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาในชั้นนี้มีว่า การกู้ยืมเงินในคดีนี้โจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยทั้งสองหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่โจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินโจทก์ได้แก่จดหมายที่จำเลยทั้งสองเขียนถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๑ ถึง จ.๓ และ จ.๑๐ รวม ๔ ฉบับ ซึ่งอ่านแล้วได้ความว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินโจทก์เพื่อสร้างบ้านให้เสร็จ จดหมายเอกสารหมาย จ.๑ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้เขียนลงท้ายว่าลูกม่วยและน้อย สำหรับสดหมายเอกสารหมาย จ.๒ นั้น จำเลยที่ ๒ ก็เป็นผู้เขียนและลงท้ายว่าลูกม่วยพี่น้อย ส่วนจดหมายเอกหมาย จ.๓ นั้น จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เขียนลงท้ายว่า น้อย ม่วย ลูก ๆ ทุกคน สำหรับจดหมายเอกสารหมาย จ.๑๐ นั้น จำเลยที่ ๒ เป็นผู้เขียนลงท้ายว่า ลูกม่วย และพี่น้อย คำว่า “ม่วย” เป็นชื่อเล่นของจำเลยที่ ๒ และคำว่า “น้อย” เป็นชื่อเล่นของจำเลยที่ ๑ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้เขียนจดหมายจะใช้ชื่อจริงหรือชื่อเล่นของผู้เขียนลงในจดหมายอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับและ ผู้เขียน ถ้าผู้เขียนมีความสนิทสนมกับผู้รับเช่นเป็นเพื่อนสนิทหรือญาติใกล้ชิดสนิทก็อาจจะใช้ชื่ออย่างเป็นกันเอง หากผู้รับเป็นญาติผู้ใหญ่ก็อาจจะใช้ชื่อเล่นในจดหมายเพื่อแสดงความเคารพและให้เห็นว่าผู้เขียนเป็นเด็ก อนึ่งการลงลายมือชื่อนั้นจะใช้ตัวอักษรบรรจง หวัด หรือหวัดแกมบรรจงก็มีผลเท่าเทียมกัน ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองเขียนชื่อเล่นของจำเลยทั้งสองลงไว้ในตอนท้ายจดหมายถึงโจทก์ทั้งสี่ฉบับดังกล่าวด้วยตัวอักษรธรรมดา (หวัดแกมบรรจง) นั้น ถือว่าเป็นการลงลายมือชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ แล้ว จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน ตามข้อความในจดหมายดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริง และการกู้ยืมเงินในคดีนี้โจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ แล้ว ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปที่ว่าจำเลยทั้งสองกู้เงินโจทก์ไปเป็นเงินเท่าใดนั้น ตามจดหมายของจำเลยทั้งสองที่เขียนถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๑ ถึง จ.๓ และ จ.๑๐ รวม ๔ ฉบับ ดังได้กล่าวแล้วนั้น เมื่ออ่านประกอบกันทุกฉบับแล้วได้ความว่า โจทก์ให้จำเลยทั้งสองกู้เงินเพื่อปลูกบ้าน โดยโจทก์ส่งเงินให้จำเลยเป็นงวด ๆ จำนวนเงินที่ตกลงให้กู้กันเป็นเงินเท่าไรนั้น ปรากฏข้อความตามจดหมายเอกสารหมาย จ.๒ ตอนหนึ่งว่า “คือยังงี้เรื่องสตางค์แม่ปลูกบ้านนั้นเป็นเงินทั้งหมดสองแสนสี่หมื่นจริง เฉพาะแต่ปลูกบ้าน เรื่องตบแต่งนั้นเป็นเงินของเราทุกอย่าง ช่างไม่เกี่ยว” ข้อความนี้ระบุชัดว่าเงินสองแสนสี่หมื่นบาทเป็นของโจทก์ จึงน่าเชื่อว่า จำเลยทั้งสองตกลงกู้เงินจากโจทก์สองแสนสี่หมื่นบาทจริงตามที่โจทก์บรรยายในฟ้อง แต่จำเลยทั้งสองได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์เป็นจำนวนเท่าใดนั้น ปรากฏว่าโจทก์ส่งเงินเข้าบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ของจำเลยที่ ๑ หลายครั้ง จำเลยทั้งสองได้รับเงินแล้วส่งหลักฐานการรับเงินให้โจทก์รวม ๑๑ ฉบับ คือตามใบเข้าบัญชีเอกสารหมาย จ.๑๑ และใบแจ้งเข้าบัญชีเอกสารหมาย จ.๑๒ ถึง จ.๒๑ เมื่อรวมยอดเงินตามเอกสารหมาย จ.๑๑ ถึง จ.๒๑ เข้าด้วยกันเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๒๘,๙๘๔ บาท ๘๗ สตางค์ เมื่อพิจารณาเอกสารหมาย จ.๑ ถึง จ.๓ และ จ.๑๐ ประกอบกับเอกสารหมาย จ.๑๑ ถึง จ.๒๑ แล้วฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกู้เงินจากโจทก์เป็นจำนวน ๒๒๘,๙๘๔ บาท ๘๗ สตางค์ และได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้วจริงตามฟ้อง
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share