คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3146/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้าน ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534มาตรา 10
จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันผลิตและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต และการที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกผลิตและมีเมทแอมเฟตามีนเป็นจำนวนมาก จึงเป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกผลิตและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย
จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อขาย โดยหลังจากเจ้าพนักงานตรวจค้นและยึดวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวนหนึ่งได้จากจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันผลิตและมีไว้ในครอบครองที่บ้านเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 1 ยังนำเจ้าพนักงานไปตรวจค้นและยึดวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อีกจำนวน 80 ถุง บรรจุถุงละ 200 เม็ด จากบริเวณบ้านจำเลยที่ 1 โดยก่อนวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนบรรจุถุงละ 200 เม็ด ได้จำนวน 180 ถุง จำเลยที่ 2 ส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 จำนวน150 ถุง ได้จำหน่ายไปบางส่วนคงเหลือ 80 ถุง ใส่โหลพลาสติกฝังไว้ในสวนมะนาวหลังบ้านจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมทแอมเฟตามีนจำนวน 80 ถุง ดังกล่าวที่จำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองมาก่อนที่จำเลยทั้งสองจะผลิตและมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟ-ตามีนจำนวนที่ยึดได้จากบ้านเกิดเหตุ การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนทั้งสองจำนวนดังกล่าวเป็นการกระทำคนละเวลาคนละสถานที่และวัตถุแห่งการกระทำความผิดก็เป็นคนละจำนวนโดยมิได้เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองสำหรับการร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 80 ถุงไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อขาย จึงเป็นการกระทำความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหาก ซึ่งต้องเรียงกระทงลงโทษตามกฎหมาย
ขณะจำเลยทั้งสองกระทำความผิดนั้น มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อขาย เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องรับโทษตามมาตรา 89 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท และการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 35 กรัม จำนวนหนึ่ง และ 242 กรัม อีกจำนวนหนึ่ง เกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ต้องรับโทษตามมาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท แต่ในระหว่างพิจารณา ปรากฏว่ามีการยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2ดังกล่าวข้างต้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 20ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงมีผลให้การผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อขายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 35 กรัม เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522มาตรา 15 วรรคสอง ต้องรับโทษตามมาตรา 65 วรรคสอง ระวางโทษประหารชีวิต และการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้35 กรัม จำนวนหนึ่ง และ 242 กรัม อีกจำนวนหนึ่ง เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง ต้องรับโทษตามมาตรา 66วรรคหนึ่ง ในกรณีคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 35 กรัม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท และต้องรับโทษตามมาตรา 66 วรรคสอง ในกรณีคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 242 กรัม ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ดังนั้น พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518 ที่ใช้ในขณะจำเลยทั้งสองกระทำความผิดแตกต่างกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิด และเมื่อ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ระวางโทษแก่จำเลยทั้งสองเบากว่าระวางโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงต้องนำ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมาใช้บังคับ ตาม ป.อ.มาตรา 3

Share