คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3146/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่จะต้องนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาทของเจ้ามรดก นิติกรรมการโอนเป็นโมฆียะกรรมที่โจทก์ได้บอกล้างแล้ว การบอกล้างโมฆียะกรรมของโจทก์ตลอดจนการนำคดีมาฟ้องเป็นการกระทำอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมของเจ้ามรดก เพื่อที่จะนำทรัพย์มรดกมาแบ่งปันให้แก่ทายาทเป็นการใช้สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนางตามนภักดี เจ้ามรดก จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของเจ้ามรดก จำเลยที่ 2เป็นภรรยาของจำเลยที่ 1 ก่อนถึงแก่กรรม เจ้ามรดกป่วยมีอาการสติวิปลาส ขาดความรู้สึกรับผิดชอบ เป็นบุคคลวิกลจริตโดยไม่มีผู้อนุบาล จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งรู้ดีว่าเจ้ามรดกเป็นบุคคลวิกลจริตมีเจตนาทุจริตร่วมกันทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้ามรดก นิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆียะโจทก์บอกล้างจึงตกเป็นโมฆะมาแต่ต้น ขอให้บังคับให้จำเลยร่วมกันเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากชื่อจำเลยที่ 1 เป็นชื่อของเจ้ามรดตามเดิม หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาโดยให้จำเลยร่วมกันเสียค่าใช้จ่าย ค่าภาษีอากร ภาษีเงินได้ทั้งหมดหากไม่สามารถปฏิบัติตามให้จำเลยร่วมกันใช้ราคาที่ดิน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิได้บอกล้างโมฆียะกรรม ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์สามารถให้สัตยาบันได้ ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม นิติกรรมที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสมบูรณ์ เพราะขณะที่ทำนิติกรรมเจ้ามรดกมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ไม่ได้เป็นบุคคลวิกลจริต การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 3 ให้การว่า เป็นเจ้าพนักงานที่ดินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการยกให้ตามฟ้อง จำเลยที่ 3 ได้สอบสวนผู้ให้และผู้รับตลอดจนเอกสารเห็นว่าถูกต้องและเจ้ามรดกมีสติสมบูรณ์ดีไม่เป็นบุคคลวิกลจริต จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและกฎหมายทุกประการจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง
จำเลยที่ 4 ถึงที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มีอำนาจจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนได้โดยลำพัง ไม่ต้องเสนอต่อจำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้มีอำนาจเพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือผู้ว่าราชการจังหวัดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ที่ 5
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดชี้สองสถาน งดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719บัญญัติว่า ” ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก” โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 412 ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่จะต้องนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาทของเจ้ามรดก นิติกรรมการโอนเป็นโมฆียะกรรมที่โจทก์ได้บอกล้างแล้ว การบอกล้างโมฆียะกรรมของโจทก์ตลอดจนการนำคดีมาฟ้องเป็นการกระทำอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งอันแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมของเจ้ามรดก เพื่อที่จะนำทรัพย์มรดกมาแบ่งปันให้แก่ทายาท เป็นการใช้สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน.

Share