คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1525/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าทำงานในวันหยุดและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแม้จะไม่ใช่ค่าจ้างตามความหมายของคำว่า ‘ค่าจ้าง’ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 เพราะไม่ใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้ในวันหยุดซึ่ง ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน แต่ก็เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายตอบแทนการทำงานนอกเวลาปกติ และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายตอบแทนแก่ลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิ เงินทั้งสองประเภทนี้นายจ้างผูกพันต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือว่าเป็นสินจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องเอาสินจ้างหรือเงินจ้างดังกล่าวจึงอยู่ภายใต้บังคับ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (9) ซึ่งมีกำหนด 2 ปี หาใช่มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 ไม่
การที่จำเลยผิดนัดไม่จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์นั้นเป็น เพราะจำเลยเห็นว่าตนไม่มีหน้าที่ต้องจ่าย ถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจผิดนัดในการจ่ายเงินให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเจ็ดวันให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยให้โจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ทำงานในวันหยุดกับทำงานในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงาน โดยจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าจ่ายล่วงเวลาในวันหยุดไม่ครบถ้วน โจทก์มิได้หยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งมีสิทธิหยุดปีละ ๖ วัน จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุดและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ย กับให้จ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่ค้างชำระทุกระยะเจ็ดวันจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยสั่งให้โจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติหรือทำงานในวันหยุด โจทก์เป็นพนักงานอุบัติเหตุมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับอุบัติเหตุเกิดแก่ รถยนต์ เครื่องมือกลของจำเลย โดยต้องไปทำงานนอกสถานที่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุด จำเลยจัดให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีในเทศกาลตรุษจีนแล้ว ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างหรือดอกเบี้ยอีกสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีอายุความ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๕ ค่าจ้างที่ฟ้องเกินกำหนด ๒ ปี ขาดอายุความ
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาคงมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ขาด แต่สิทธิเรียกร้องค่าจ้างทั้งสองประเภทมีอายุความ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๕ จำเลยคงรับผิดเฉพาะค่าทำงานในวันหยุดและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่เกินกำหนด ๒ ปี พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ค่าทำงานในวันหยุดและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี แม้จะไม่ใช่ค่าจ้างตามความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง”ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๒ เพราะไม่ใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงาน แต่ค่าทำงานในวันหยุดก็เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนแก่ลูกจ้างมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิ เงินทั้งสองประเภทนี้นายจ้างผูกพันต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือว่าเป็นสินจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๗๕ อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องเอาสินจ้างหรือเงินจ้างดังกล่าวจึงอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๙) ซึ่งมีกำหนด ๒ ปีหาใช่มีอายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๖๔ ไม่
การที่จำเลยผิดนัดไม่จ่ายเงินสินจ้างทั้งสองประเภทให้แก่โจทก์นั้นเป็นเพราะจำเลยเห็นว่าตนไม่มีหน้าที่ต้องจ่าย ถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจผิดนัดในการจ่ายเงินให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเจ็ดวันแก่โจทก์
พิพากษายืน

Share