แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่จะต้องนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาทของเจ้ามรดก นิติกรรมการโอนเป็นโมฆียะกรรมที่โจทก์ได้บอกล้างแล้ว การบอกล้างโมฆียะกรรมของโจทก์ตลอดจนการนำคดีมาฟ้องเป็นการกระทำอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมของเจ้ามรดก เพื่อที่จะนำทรัพย์มรดกมาแบ่งปันให้แก่ทายาทเป็นการใช้สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนางตามน ภักดี เจ้ามรดก โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางตามน จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภรรยากัน จำเลยที่ 3และที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่เป็นข้าราชการตัวแทนลูกจ้างในทางการที่จ้างของตัวการ หรือนายจ้างคือ จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทราบและรู้ดีว่านางตามนเป็นบุคคลวิกลจริตได้ร่วมกันกรอกข้อความอันเป็นเท็จว่า นางตามนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์สามารถทำนิติกรรมโอนสิทธิที่ดิน โฉนดเลขที่412 กรรมสิทธิ์ของนางตามนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางตามนจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทราบและรู้ดีว่านางตามนเป็นวิกลจริตกลับกรอกข้อความสอบสวนอันเป็นความเท็จว่านางตามนมีสติสัมปชัญญะดี แต่ไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ จำเลยที่ 3 จับมือนางตามนพิมพ์ลายนิ้วมือมีจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยาน เป็นเหตุให้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 412 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมตกทอดได้แก่นายปุรณะ กระแสชัย และนายศุภวัตร บุนนาค โอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 กระทำไปจึงตกเป็นโมฆียะ โจทก์บอกล้างจึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่ต้น ขอให้บังคับจำเลยให้เพิกถอนนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 412 ชื่อจำเลยที่ 1กลับคืนเป็นชื่อของนางตามนตามเดิม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์อ้างว่า นิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างนางตามน ภักดี กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆียะ แต่โจทก์มิได้บอกล้างโมฆียะกรรมภายใน 1 ปี จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและกฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ นิติกรรมที่ได้ทำลงไปจึงสมบูรณ์มีผลตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 4และที่ 5 ให้การว่า อำนาจในการขอเพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ได้กำหนดให้บุคคลผู้มีอำนาจเพิกถอนคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น การฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องผิดตัว เพราะจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่มีอำนาจในการเพิกถอนนิติกรรมแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก” โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 412 ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ที่จะต้องนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาทของเจ้ามรดก นิติกรรมการโอนเป็นโมฆียะกรรมที่โจทก์ได้บอกล้างแล้ว การบอกล้างโมฆียะกรรมของโจทก์ตลอดจนการนำคดีมาฟ้องเป็นการกระทำอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมของเจ้ามรดกเพื่อที่จะนำทรัพย์มรดกมาแบ่งปันให้แก่ทายาทเป็นการใช้สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาศาลฎีกาเห็นด้วยในผล”
พิพากษายืน