คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ระบุถึงการเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและได้มอบอำนาจให้ ร.หรือ ธ. ฟ้องคดีโดยมีเลขานุการสถานทูตไทยรับรองว่า ได้เห็นเอกสารการมอบอำนาจนั้น แม้เลขานุการสถานทูตไทยจะมิได้รับรองว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและผู้มอบอำนาจเป็นบุคคลมีอำนาจแท้จริงเมื่อจำเลยไม่นำสืบโต้แย้งคัดค้านก็รับฟังว่าหนังสือมอบอำนาจนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องได้ การฟ้องคดีขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วโดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยเป็นการฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 41(1) จึงมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่มีการละเมิดคือวันที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษร “G” ประดิษฐ์เป็นรูปคล้ายหยดน้ำ อักษรโรมันได้แก่ “hansgrohe” ไม่มีกรอบ ในการโฆษณาตัว “G” อยู่ในวงกลมบ้าง ไม่มีวงกลมบ้าง ตัวอักษรโรมันบางครั้งเป็น “HansGrohe” ด้วย ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีอักษร “G” ประดิษฐ์เป็นรูปหยดน้ำเช่นเดียวกับโจทก์กับตัวอักษรโรมันว่า “HanGroh” อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยจึงมีเพียงเล็กน้อยเมื่อนำมาใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันอาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนและหลงผิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำภาษาโรมันว่า “hansgrohe” หรือ “Hans Grohe” อ่านว่า”ฮันส์โกรฮ์” และอักษรโรมันตัว “G” ประดิษฐ์เป็นรูปคล้ายหยดน้ำซึ่งได้ใช้กับสินค้าต่าง ๆ ของโจทก์หลายประเภทรวมทั้งสินค้าจำพวก ฝักบัว ก๊อกน้ำ ท่อน้ำ สายฝักบัว วาล์ว ทั้งนี้โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและรูปประดิษฐ์ดังกล่าวไว้ในต่างประเทศเกือบทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยโจทก์ได้ดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนต่อกองทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าไว้2 คำขอ คือ คำขอเลขที่ 137368 และเลขที่ 137369 แต่นายทะเบียนแจ้งว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ เลขที่ 137369 มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “Han Groh”และรูปประดิษฐ์ตัว “G” เหนือคำดังกล่าวของจำเลยซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วตามคำขอเลขที่ 96553 นายทะเบียนจึงไม่รับจดทะเบียนให้การกระทำของจำเลยเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้าโดยเข้าใจว่าสินค้าของจำเลยซึ่งมีคุณภาพไม่ดีเป็นสินค้าของโจทก์เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำภาษาโรมัน “hansgrahe” และรูปประดิษฐ์ตัว “G”คล้ายหยดน้ำดีกว่าจำเลย ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า”Han Groh” และรูปประดิษฐ์ตัว “G” ต่อไป และขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนให้แล้ว และห้ามจำเลยขัดขวางการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล ผู้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจไม่มีอำนาจกระทำการในนามของโจทก์ โจทก์มิได้เป็นเจ้าของหรือผู้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องหมายการค้าตามฟ้อง และไม่เคยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้กับสินค้าดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ทั้งโจทก์ไม่เคยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในต่างประเทศและในประเทศไทย ที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ไม่ใช่ความผิดของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้ จำเลยเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเองและมีลักษณะบ่งเฉพาะตามความรู้ความเข้าใจเองด้วยความสุจริต และได้ใช้กับสินค้าของจำเลยซึ่งผลิตออกจำหน่ายในประเทศไทยเป็นที่แพร่หลายมานานกว่า10 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยจึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแต่ผู้เดียว แต่อย่างไรก็ดีเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้ไม่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งตัวอักษรการวางรูปแบบและสำเนียงการอ่านก็แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โจทก์ไม่เสียหาย ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยห้ามใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำภาษาโรมันว่า “hansgrohe” อ่านว่า “ฮันส์โกรฮ์” และรูปประดิษฐ์ตัว “G”คล้ายหยดน้ำดีกว่าจำเลยและห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า”Han Groh” และรูปประดิษฐ์ตัว “G” คล้ายหยดน้ำกับสินค้าของจำเลยต่อไป กับให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่กองทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าออกให้ตามฟ้องจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันโจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์ในห้องน้ำเช่น ก๊อกน้ำ ท่อน้ำ สายฝักบัว และวาล์ว โดยใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันว่า “hansgrohe” หรือ “Hans Grohe” อ่านเป็นภาษาไทยว่า “ฮันส์โกรฮ์” และรูปประดิษฐ์ตัว “G” เป็นรูปคล้ายหยดน้ำอยู่ในวงกลมบ้าง ไม่มีวงกลมบ้าง ตามเอกสารหมาย จ.13 บริษัทจำเลยได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่า “Han Groh” สำหรับใช้กับสินค้าจำพวก 50 ตามเอกสารหมาย จ.14 หรือ ล.2 และได้รับจดทะเบียนแล้วตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2520 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์2527 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อกรมทะเบียนการค้า สำหรับใช้กับสินค้าจำพวก 13 และจำพวก 50นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนให้อ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า (1) โจทก์ได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้หรือไม่ (2) คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่(3) เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่ (4) โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่ากัน
สำหรับในประเด็นข้อแรกนั้น ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ว่าเลขานุการสถานทูตไทยรับรองแต่เพียงว่า ได้เห็นเอกสารการมอบอำนาจเท่านั้น มิได้รับรองว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและผู้มอบอำนาจเป็นบุคคลมีอำนาจแท้จริง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์มีหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุถึงการเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และได้มอบอำนาจให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า หรือนายธเนศ เปเรร่า ฟ้องคดีพร้อมด้วยคำแปล โดยจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด จึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบนั้น จำเลยฎีกาว่าเมื่อเลขานุการสถานทูตไทยมิได้รับรองว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง เอกสารหมาย จ.1 ก็มิใช่เอกสารที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้นเป็นการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ซึ่งได้กระทำโดยถูกต้องแล้ว แม้มิได้มีคำรับรองดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ก็สามารถที่จะรับฟังว่า เป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
สำหรับประเด็นข้อที่สองเรื่องอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการฟ้องคดีขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วโดยโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยย่อมเป็นการฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 41(1) ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่มีการละเมิดคือวันที่จำเลยจดทะเบียนการค้านั้น กรณีนี้ จำเลยได้จดทะเบียนการค้าเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2520 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 13มิถุนายน 2527 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนในประเด็นที่สามที่ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ปรากฏตามคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.12และ จ.13 มีส่วนประกอบหรือรูปตัวอักษรประดิษฐ์กับตัวอักษรโรมันรูปตัวอักษรประดิษฐ์นั้น เป็นรูปประดิษฐ์ตัว “G” ประดิษฐ์คล้ายหยดน้ำ ส่วนที่เป็นตัวอักษรโรมันนั้นได้แก่ “hansgrohe” ไม่มีกรอบและเวลาใช้ในการโฆษณา ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3, จ.11, จ.17-จ.19,จ.21 และ จ.23 นั้น รูปประดิษฐ์ตัว “G” อยู่ในวงกลมบ้าง และไม่มีวงกลมบ้าง ส่วนตัวอักษรโรมันบางครั้งก็เป็น “hansgrohe”บางครั้งก็เป็น “Hans Grohe” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.14 มีสองส่วนคือ รูปประดิษฐ์ตัวอักษร “G”เป็นรูปหยดน้ำเช่นเดียวกับของโจทก์ กับตัวอักษรโรมันว่า”Han Groh” และทั้งหมดนี้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนที่เหมือนกับของโจทก์ได้แก่ส่วนแรกคือ รูปประดิษฐ์ตัวอักษร “G”เป็นรูปหยดน้ำ ส่วนที่แตกต่างกันนั้นได้แก่ตัวอักษรโรมันคำหน้าของโจทก์เป็น “Hans” มีตัว S ลงท้าย ส่วนของจำเลยเป็น”Han” ไม่มีตัว S ลงท้าย คำหลังของโจทก์เป็น “Grohe” มีตัว eลงท้าย ส่วนของจำเลยเป็น “Groh” ไม่มีตัว e ลงท้าย เช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ส่วนที่สองของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยที่เป็นข้อความอักษรโรมันนั้นวางอยู่ในลักษณะเดียวกันแม้จะแตกต่างกันบ้าง ก็เพียงขาดอักษรบางตัวดังกล่าวมาแล้วแต่ส่วนใหญ่ก็เหมือนกัน แม้คำอ่านที่จำเลยจดทะเบียนไว้ แตกต่างจากของโจทก์คือพยางค์แรกของโจทก์ อ่านว่า “ฮันส์” ส่วนของจำเลยอ่านว่า “แฮง” แต่ก็มิได้มีคำอ่านกำกับไว้ ประชาชนผู้พบเห็นอาจจะอ่านคำว่า “Hans” ในสินค้าของโจทก์ กับคำว่า “Han”ในสินค้าของจำเลยเหมือนกันได้ ความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยจึงมีเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อนำมาใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน อาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนและหลงผิดได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับในประเด็นสุดท้ายนั้น ข้อนี้โจทก์นำสืบโดยมีเอกสารหมาย จ.25 ว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาตั้งแต่ ค.ศ. 1958 หรือ พ.ศ. 2501 ที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และได้จดทะเบียนต่อมาอีกในหลายประเทศตามเอกสารหมาย จ.26 ถึง จ.33 และห้างหุ้นส่วนจำกัดชาญไพบูลย์การค้าเคยสั่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2519 ตามเอกสารหมาย จ.5 นอกจากนี้โจทก์ยังมีตัวอย่างการโฆษณาสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.11 และ จ.17 ถึง จ.21 ส่วนจำเลยนำสืบแต่เพียงว่าได้เครื่องหมายการค้ามาอย่างไร และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วเมื่อ พ.ศ. 2521 มิได้นำสืบถึงการจำหน่ายหรือการโฆษณาสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของจำเลยแต่อย่างใด เช่นนี้ เห็นว่า โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมาก่อนจำเลย ทั้งได้จดทะเบียนไว้ในต่างประเทศหลายประเทศ และได้ส่งสินค้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share