คำวินิจฉัยที่ 83/2562

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่จำเลยโดยประธานกรรมการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมทำสัญญาจ้างโจทก์เพื่อทำงานบริหารในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของจำเลย โดยข้อ ๑.๒ ของสัญญาจ้างผู้บริหารที่ระบุว่า “สัญญาจ้างเป็นผู้บริหารนี้เป็นสัญญาที่ทำขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการจ้างบริหารเพื่อมุ่งความสำเร็จของงานและการจ้างตามสัญญานี้ไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนและไม่เป็นผลให้ผู้รับจ้างมีฐานะเป็นพนักงานของผู้ว่าจ้าง” และพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจไม่มีฐานะเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจ โดยปรากฏเหตุผลในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓ ว่า “ให้ผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจไม่มีฐานะเป็นพนักงาน และให้การจ้างบริหารโดยทำสัญญาจ้าง โดยกำหนดค่าจ้างเพื่อผลประโยชน์อื่นตามผลงานในการบริหาร เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีผู้บริหารที่มีความรู้และความสามารถในเชิงธุรกิจอย่างแท้จริง” ทั้งข้อ ๒.๑ ของสัญญายังกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่บริหารกิจการตามภารกิจ เป้าประสงค์และเป้าหมายที่คณะกรรมการของจำเลยกำหนด ตลอดจนปฏิบัติตามนโยบายมติคณะรัฐมนตรี ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งที่คณะกรรมการของจำเลยกำหนด ดังนั้นสัญญาจ้างโจทก์เป็นผู้จัดการทั่วไปซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงมีลักษณะเป็นการจ้างบริหารกิจการเพื่อจัดทำบริการสาธารณะในอำนาจหน้าที่ของจำเลย มิใช่การจ้างแรงงานตามความหมายของสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ สัญญาจ้างผู้บริหาร ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ จึงเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้เอกชนเข้าจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นสัญญาประเภทหนึ่งของสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนเงินเดือนที่จ่ายเกินไปคืนแก่จำเลยก็ล้วนเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างผู้บริหารดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

Share