คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3141/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยกู้เงินโจทก์ไปไถ่จำนองที่ดินและบ้านอันเป็นสินสมรสหนี้รายนี้จึงเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสอันเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490(2) ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาจำเลยจึงไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วนของตนในที่ดินและบ้านดังกล่าวซึ่งถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้รายนี้แก่โจทก์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินมีโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างคือบ้านของจำเลยออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเคยเป็นภรรยาของจำเลยที่ดินและบ้านดังกล่าวเป็นของจำเลยและผู้ร่องร่วมกันซื้อมาระหว่างอยู่กินเป็นสามีภรรยา ต่อมาได้หย่าขาดจากกัน โดยตกลงยกที่ดินและบ้านดังกล่าวให้แก่บุตรของจำเลยกับผู้ร้อง แต่ยังไม่ทันจดทะเบียนโอนก็ถูกยึดเสียก่อน ที่ดินและบ้านดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง ผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่งหากขายทอดตลาดได้เงินเท่าใด ขอให้กันเงินที่ขายได้กึ่งหนึ่งแก่ผู้ร้องโจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้หย่ากันจริง หนี้คดีนี้เป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยา และทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของจำเลยเองได้นำมาประกันในคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีโดยผู้ร้องมิได้คัดค้านแต่อย่างใดศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาว่าผู้ร้องมีสิทธิขอกันส่วนของผู้ร้องได้หรือไม่ โจทก์คัดค้านว่าทรัพย์ที่ยึดมาเป็นสินส่วนตัวของจำเลย เพราะนำไปประกันการทุเลาการบังคับคดีโดยผู้ร้องมิได้คัดค้านอนึ่งหากเป็นสินสมรสโจทก์ก็ยังมีสิทธิขายทอดตลาดนำเงินชดใช้หนี้ของโจทก์ได้ เพราะเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยา ปัญหาวินิจฉัยประการแรกว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยหรือเป็นสินสมรส ผู้ร้องนำสืบว่าได้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2523 ขณะนั้นผู้ร้องยังไม่ได้หย่ากับจำเลย โจทก์มิได้นำสืบต่อสู้เป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474(1) ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า เงินจำนวน 500,000 บาท ที่จำเลยกู้โจทก์มาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์นำสืบว่า จำเลยขอยืมเงินโจทก์ไปอ้างว่าจะไปไถ่จำนองที่ดินและบ้านที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามพาณิชย์ ทรัสต์ จำกัดแล้วจะขายฝากแก่โจทก์ โจทก์จำเลยจึงไปด้วยกัน เมื่อไถ่จำนองจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามพาณิชย์ ทรัสต์ จำกัด แล้วจะจดทะเบียนขายฝากต่อไป แต่ทำไม่ได้ เนื่องจากไม่มีลายมือชื่อของผู้ร้องให้ความยินยอมจึงกลับมาทำสัญญากู้กันที่บ้านโจทก์ ตามเอกสารก็ปรากฏว่า จำเลยได้จำนองที่ดินไว้ที่บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์สยามพาณิชย์ ทรัสต์ จำกัด จริงและไถ่จำนองเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม2523 หลังจากที่ทำสัญญากู้กับโจทก์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2523 ทั้งผู้ร้องก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้เอาเงินจำนวนใดจากใครไปไถ่จำนอง จึงน่าเชื่อว่าจำเลยได้นำเงินดังกล่าวไปไถ่จำนองจริงเมื่อฟังได้ว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปไถ่จำนองที่ดินและบ้านอันเป็นสินสมรส หนี้รายนี้จึงเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสอันเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490(2) ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาจำเลยจึงไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วนของผู้ร้องได้ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคดีชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share