แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง ตัดโค่นทำลายต้นไม้บริเวณป่า ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธารในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าพะโต๊ะ ป่าปังหวาน และป่าปากทรงและเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กับมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (3) และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38, 54 เมื่อจำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพตามฟ้อง การกระทำของจำเลยทั้งหกย่อมเป็นความผิดต่อกฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าว อีกทั้งความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสอง ก็มีโทษหนักกว่าความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่งด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรับบทว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 นั้น จึงถูกต้องแล้ว
การที่จำเลยทั้งหกบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นต้นน้ำลำธารและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นเนื้อที่ 3 ไร่เศษ ผลของการกระทำของจำเลยทั้งหกนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อสภาพพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารแล้ว ยังเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของชาติ เป็นต้นเหตุให้ป่าไม้เสื่อมสภาพและมีจำนวนลดน้อยลง ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางธรรมชาติโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และอาจก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียหายต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งหกพร้อมอาวุธปืนยาวขนาด .22 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียน 2 กระบอก อาวุธปืนพกขนาด 9 มม. 1 กระบอก และมีกระสุนปืนทั้งสองขนาดจำนวนมาก ซึ่งจำเลยทั้งหกร่วมกันมีและพาไปขณะบุกรุกที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าว ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งหกมีเจตนาจะใช้อาวุธปืนดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการล่าสัตว์ป่ารวมทั้งต่อสู้กับเจ้าพนักงานหากถูกจับกุม พฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยทั้งหกไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระจะต้องเลี้ยงดูครอบครัวและที่จำเลยที่ 3 อ้างว่ามีสุขภาพไม่แข็งแรง เคยประสบอุบัติเหตุไม้ยางพาราล้มทับกระเพาะปัสสาวะแตกเคยเข้ารับการผ่าตัด และต้องสวมแผ่นรองซับปัสสาวะตลอดก็ไม่ปรากฏหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจน จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งหก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31 วรรคสอง (3), 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 55, 72 ตรี, 74 ทวิ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38, 54 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 371 ริบมีดพร้าและอาวุธปืนยาวขนาด .22 จำนวน 2 กระบอก และกระสุนปืนขนาด .22 ที่เหลือจากการทดลองยิงของกลาง และให้จำเลยทั้งหก คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งหกออกจากป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่เกิดเหตุ
จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (3) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 อีกบทหนึ่ง (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทในส่วนนี้อีก) การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 40,000 บาท ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท และจำเลยที่ 6 มีความผิดฐานพาอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของตนเองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร ปรับ 2,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีกำหนดคนละ 4 ปี และปรับคนละ 60,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 4 ปี และปรับ 62,000 บาท จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 30,000 บาท คงจำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 2 ปี และปรับ 31,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบมีดพร้า อาวุธปืนยาวขนาด .22 จำนวน 2 กระบอก และกระสุนปืนขนาด .22 ของกลาง ให้จำเลยทั้งหก คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งหกออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่เกิดเหตุ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 สำหรับจำเลยที่ 6 มีความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนและฐานพาอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของตนเองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว รวมจำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 2 ปี ไม่ลงโทษปรับและไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งหก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง ตัดโค่นทำลายต้นไม้บริเวณป่า ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธารในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าพะโต๊ะ ป่าปังหวาน และป่าปากทรงและเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กับมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (3) และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38, 54 เมื่อจำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพตามฟ้อง การกระทำของจำเลยทั้งหกย่อมเป็นความผิดต่อกฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าว อีกทั้งความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสอง ก็มีโทษหนักกว่าความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่งด้วย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรับบทว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น จึงถูกต้องแล้ว
การที่จำเลยทั้งหกบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นต้นน้ำลำธารและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นเนื้อที่ 3 ไร่เศษ ผลของการกระทำของจำเลยทั้งหกนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อสภาพพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารแล้ว ยังเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของชาติ เป็นต้นเหตุให้ป่าไม้เสื่อมสภาพและมีจำนวนลดน้อยลง ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางธรรมชาติโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และอาจก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียหายต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งหกพร้อมอาวุธปืนยาวขนาด .22 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียน 2 กระบอก อาวุธปืนพกขนาด 9 มม. 1 กระบอก และมีกระสุนปืนทั้งสองขนาดจำนวนมาก ซึ่งจำเลยทั้งหกร่วมกันมีและพาไปขณะบุกรุกที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าว ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งหกมีเจตนาจะใช้อาวุธปืนดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการล่าสัตว์ป่ารวมทั้งต่อสู้กับเจ้าพนักงานหากถูกจับกุม พฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยทั้งหกไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระจะต้องเลี้ยงดูครอบครัวและที่จำเลยที่ 3 อ้างว่ามีสุขภาพไม่แข็งแรง เคยประสบอุบัติเหตุไม้ยางพาราล้มทับกระเพาะปัสสาวะแตกเคยเข้ารับการผ่าตัด และต้องสวมแผ่นรองซับปัสสาวะตลอดก็ไม่ปรากฏหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจน จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งหกนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทั้งหกฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน