คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3132/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การถอนคำฟ้องที่มีผลลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องและทำให้คู่ความกลับเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 176 นั้น หมายถึงการถอนคำฟ้องนั้นได้ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดศาลหนึ่ง ดังนี้ แม้โจทก์จะขอถอนฟ้องคดีก่อน ซึ่งมีคู่ความเดียวกันและมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีนี้ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ยังอุทธรณ์และฎีกาต่อมา และขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ฟัองโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) แม้ต่อมาคดีก่อนจะถึงที่สุดก็หาทำให้ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้น กลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยที่ 1 จะฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิ์ฟ้องแย้งโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงิน 40,448.080 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 32,521,070 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ใช้เงินจำนวน 1,781,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนค้าต่างมิใช่นายหน้าสิทธิเรียกร้องตามฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความเนื่องจากมิได้ฟ้องภายในกำหนด 2 ปี ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมรวมทั้งค่าทนายความของแต่ละฝ่ายให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ตกลงรับจ้างบริษัทลูกจ้างบริษัทจูดี้ฟิลลิปิน จำกัด ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทจูดี้ฟิลลิปิน จำกัด สั่งตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับเด็กหลายชุดหลายแบบ รวมจำนวน 62,500 โหล อัตราค่าจ้างเฉลี่ยโหลละ 23.75 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาไม่มีการส่งมอบสินค้าแก่กันโจทก์จึงนำคดีมาฟ้องเรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสามรับผิดในฐานะตัวแทนค้าต่างของบริษัทจูดี้ฟิลลิปิน จำกัด จำเลยทั้งสามให้การว่าไม่ได้เป็นตัวแทนค้าต่างของลูกค้าต่างประเทศ แต่เป็นนายหน้าของโจทก์และฟ้องแย้งเรียกค่านายหน้า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งโดยวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนค้าต่างของบริษัทจูดี้ฟิลลิปิน จำกัด และคดีขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์ว่า คดีไม่ขาดอายุความและจำเลยทั้งสามเป็นตัวแทนของโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายหน้าและคดียังไม่ขาดอายุความ
ได้ความตามคำฟ้องโจทก์ตอนท้ายและข้อเท็จจริงตามท้องสำนวนว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2543 โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งธนบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 5213/2543 ในมูลคดีเดียวกันนี้ แต่เนื่องจากศาลแพ่งธนบุรี เห็นว่า คดีดังกล่าวสมควรที่จะพิจารณาคดีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงให้โจทก์ถอนฟ้องและมายื่นฟ้องใหม่ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์จึงถอนฟ้องเดิม เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5528/2544 แล้ว มาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545 จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งธนบุรีที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องต่อศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลแพ่งธนบุรีที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2546 โดยอ่านให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 จำลยที่ 1 ได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และในที่สุดขอถอนฎีกาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2547 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5528/2544 ของศาลแพ่งธนบุรีหรือไม่ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์แต่ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5) เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5528/2544 ของศาลแพ่งธนบุรีที่โจทก์ขอถอนฟ้อง และศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ แต่จำเลยที่ 1 ยังอุทธรณ์และฎีกาต่อมา คดีจึงอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา คดีดังกล่าวคู่ความเดียวกันและมูลความแห่งคดีเดียวกัน ซึ่งขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ส่วนการถอนคำฟ้องที่มีผลลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องและทำให้คู่ความกลับเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 นั้น หมายถึงการถอนคำฟ้องนั้นได้ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดศาลหนึ่ง ดังนี้ ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5528/2544 ของศาลแพ่งธนบุรี ฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) แม้ต่อมาคดีก่อนจะถึงที่สุดก็ตามก็หาทำให้ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้น กลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาใหม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องก็ไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยที่ 1 จะฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเช่นกัน กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และอุทธรณ์จำเลยที่ 1 เพราะไม่ทำให้ผลคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงไป คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดอายุความหรือไม่ ในประเด็นนี้โจทก์อุทธรณ์ว่า นอกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนค้าต่างของบริษัทจูดี้ฟิลลิปิน จำกัดแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังมีฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ด้วย สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปี มิใช่ 2 ปี ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนค้าต่างของบริษัทจูดี้ฟิลลิปิน จำกัด เท่านั้น โดยไม่ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนของโจทก์ด้วย ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนของโจทก์หรือไม่จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าฟ้องโจทก์มีอายุความ 10 ปี ดังที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้ง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในส่วนที่วินิจฉัยเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share