คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 313/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าของเรือที่เข้าไปทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นเหตุให้ลูกเรือถูกจับกุม คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติค่าใช้สอยจากเงินงบกลางให้กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกรมประมงโจทก์นำไปชำระค่าปรับ ค่าพาหนะ และค่าใช้จ่ายในการรับลูกเรือกลับประเทศไทย โจทก์ทวงถามลูกเรือให้ชำระหนี้แล้ว ลูกเรือไม่ชำระ โจทก์ได้ทวงถามจากจำเลยให้ชำระ จำเลยทำหนังสือยอมชดใช้ให้โดยขอผ่อนชำระ หนังสือดังกล่าวเป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งจำเลยเป็นบุคคลภายนอกผูกพันตนเข้าชำระหนี้ที่ลูกเรือค้างชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ แม้ตามหนังสือสัญญาที่จำเลยยอมชดใช้เงินแก่โจทก์มีเงื่อนไขว่าต้องผ่อนชำระ ข้อความเฉพาะส่วนที่ขอผ่อนชำระเป็นเพียงข้อเสนอขึ้นใหม่ของจำเลย มิใช่เป็นเงื่อนไขอันบังคับไว้ให้สัญญาที่จำเลยยอมผูกพันตนเข้าชำระหนี้ที่ลูกเรือค้างชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 เดิม (182 ใหม่)เมื่อโจทก์ไม่ตกลงในส่วนที่จำเลยขอผ่อนชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของเรือประมงพรหมนรินทร์ 11เลขทะเบียนเรือ สป.1266 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2526 จำเลยใช้หรืออนุญาตให้ลูกเรือดังกล่าวเข้าไปทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นเหตุให้ลูกเรือจำนวน 13 คน ถูกเจ้าหน้าที่ของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจับ ต่อมาคณะรัฐมนตรีอนุมัติค่าใช้สอยจากเงินงบกลางเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายชำระค่าปรับค่าพาหนะ และค่าใช้จ่ายในการรับลูกเรือเฉพาะของลูกเรือจำเลยเป็นเงินทั้งสิ้น 211,627.91 บาทตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 โจทก์ทวงถามจำเลยในฐานะนายจ้างจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ยอมชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแต่ขอผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 1,000 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3จำเลยไม่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้ผ่อนชำระดังกล่าวและแจ้งให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ 211,627.91 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2531 จนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยแสดงความรับผิดให้แก่โจทก์เนื่องจากเหตุเกิดก่อนพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 ใช้บังคับ จำเลยเคยปรึกษานายอัมพรประมงจังหวัดชุมพรว่าจำเลยต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่ได้ความกระจ่างชัดต่อมานายอัมพรร้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 211,627.91 บาทแก่โจทก์และว่าหากไม่มีเงินพอก็ให้ทำหนังสือขอผ่อนชำระได้จำเลยจึงทำหนังสือเสนอชำระหนี้แก่โจทก์โดยมีข้อแม้ว่าจำเลยขอผ่อนชำระงวดละ 1,000 บาท ต่อเดือน ต่อมาจำเลยได้รับแจ้งจากโจทก์ว่ากระทรวงการคลังไม่อนุมัติให้จำเลยผ่อนชำระ เมื่อโจทก์ไม่รับเงื่อนไขตามที่จำเลยเสนอจำเลยก็ไม่มีหน้าที่ต้องผูกพันต่อโจทก์ในการชำระหนี้ให้โจทก์อีกต่อไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ 211,627.91 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2531จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของเรือประมงพรหมนรินทร์ 11 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2536เรือลำดังกล่าวเข้าไปทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นเหตุให้ลูกเรือจำนวน 13 คนถูกเจ้าหน้าที่ของประเทศดังกล่าวจับกุม คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติค่าใช้สอยจากเงินงบกลางให้กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับโจทก์นำไปชำระค่าปรับ ค่าพาหนะและค่าใช้จ่ายในการรับลูกเรือดังกล่าวกลับประเทศไทยเป็นเงินทั้งสิ้น 211,627.91 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2โจทก์ทวงถามลูกเรือดังกล่าวให้ชำระหนี้จำนวนนั้นแล้ว ลูกเรือไม่ชำระ โจทก์จึงทวงถามจำเลยให้ชำระจำเลยทำหนังสือเอกสารหมาย จ.1 ยอมชดใช้ให้โดยขอผ่อนชำระเดือนละ 1,000 บาทแต่กระทรวงการคลังไม่อนุมัติให้ผ่อนชำระ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่เห็นว่า จำเลยได้ทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 ถึงอธิบดีกรมประมง(ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร) มีข้อความที่สำคัญว่าตามที่ทางราชการได้ทวงหนี้ค่าใช้จ่ายในการรับตัวลูกเรือประมงพรหมนรินทร์ 11 จำนวน 13 คน ซึ่งพ้นโทษจำคุกที่ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามกลับประเทศไทยเป็นเงินทั้งสิ้น211,851.90 บาท นั้น จำเลยยินดีชดใช้ แต่เนื่องจากเรือของจำเลยถูกประเทศสาธารณรัฐสังคมเวียดนามจับทำให้จำเลยมีฐานะยากจนมีหนี้ล้นพ้นตัว จึงขอผ่อนชำระหนี้แก่ทางราชการเดือนละ 1,000 บาทตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2529 เป็นต้นไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาอนุเคราะห์ตามควรแก่กรณีต่อไปด้วยก็จะเป็นพระคุณอย่างสูงดังนี้เป็นเรื่องจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอก มิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้โจทก์แม้จะไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่เพราะไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตกลงให้หนี้ของลูกเรือทั้ง 13 คนระงับไป แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยชำระหนี้โดยอาศัยหนังสือที่จำเลยมีถึงโจทก์ดังกล่าวตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 (เอกสารหมาย จ.1) เป็นหลักซึ่งศาลชั้นต้นก็พิพากษาให้จำเลยรับผิดตามเอกสารดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่าเอกสารดังกล่าวไม่เป็นโมฆะดังที่จำเลยอ้าง จำเลยอุทธรณ์เกี่ยวกับปัญหานี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์โดยกระทรวงการคลังไม่ยอมให้จำเลยผ่อนชำระตามหนังสือดังกล่าวเท่ากับข้อเสนอของจำเลยตกไปการที่โจทก์ฎีกาว่า แม้โจทก์โดยกระทรวงการคลังจะไม่อนุมัติให้จำเลยผ่อนชำระตามหนังสือเอกสารหมาย จ.1 เอกสารดังกล่าวก็ใช้บังคับตามกฎหมายได้หาทำให้ข้อเสนอของจำเลยตกไปทั้งหมดไม่จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ทุกประการ จากข้อฎีกาของโจทก์ดังกล่าวศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าหนังสือเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญาประเภทใดตามที่ถูกต้องแท้จริงได้เห็นว่าหนังสือเอกสารหมาย จ.1 เป็นแต่เพียงจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผูกพันตนเข้าชำระหนี้ที่ลูกเรือทั้ง 13 คน ที่ค้าชำระหนี้ให้โจทก์จึงเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งเมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ จำเลยก็มีหนังสือยอมรับชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์จึงเป็นการกระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาว่าเอกสารหมาย จ.1มีข้อความเป็นสัญญาว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าต้องผ่อนชำระเพียงเดือนละ 1,000 บาท เมื่อโจทก์โดยกระทรวงการคลังไม่รับเงื่อนไขของจำเลยถือได้ว่าข้อเสนอของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1ตกไปนั้น เห็นว่า ข้อความเฉพาะส่วนที่ขอผ่อนชำระในเอกสารหมาย จ.1เป็นเพียงข้อเสนอขึ้นใหม่ของจำเลยดังจะเห็นจากข้อความในเอกสารที่ว่า จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาอนุเคราะห์ตามควรแก่กรณีต่อไปด้วยก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง จึงมิใช่เป็นเงื่อนไขอันบังคับไว้ในสัญญาที่จำเลยยอมผูกพันตนเข้าชำระหนี้ที่ลูกเรือทั้ง 13 คนที่ค้างชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 เดิม (182 ใหม่) เมื่อโจทก์ไม่ตกลงในส่วนที่จำเลยขอผ่อนชำระดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share