คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 313/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเช็คพิพาทมีรายการครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988 แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วก็ยังเป็นเช็คตามความหมายแพ่งมาตรา 987 อันจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตาม มาตรา 900 เมื่อจำเลยที่ 2 เอาเช็คดังกล่าวมาแลกเงินจากโจทก์และสลักหลังมอบเช็คนั้นให้โจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้มีเช็คไว้ในความครอบครองในฐานเป็นผู้รับสลักหลัง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามมาตรา 905 และเมื่อเช็คดังกล่าวเป็นเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สลักหลังย่อมเป็นประกัน (อาวัล) สำหรับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายมีความรับผิดอย่างเดียวกับบุคคลซึ่งตนประกันตาม มาตรา 921, 940 ประกอบด้วยมาตรา 989 และจะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายรับผิดตามเช็คพิพาทต่อโจทก์ ตามมาตรา 967 ประกอบด้วย 989 แม้จำเลยที่ 2 จะสลักหลังเช็คหลังจากที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นแล้ว ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความผิดตามเช็คพิพาทต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ออกเช็ค ๒ ฉบับชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ ๒ ต่อมาจำเลยที่ ๒ เอาเช็คดังกล่าวมาชำระหนี้ให้โจทก์โดยจำเลยที่ ๒ สลักหลังเช็คทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวด้วย ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คทั้งสองฉบับเป็นเงิน ๒๔,๘๙๘.๕๐ บาท
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เยาว์และออกเช็คให้จำเลยที่ ๒ โดยถูกหลอกลวง จึงเป็นโมฆะ เช็คฉบับหนึ่งเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท โจทก์ทราบว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว ยังรับเช็คไว้อีกจึงมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ ๒ เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ มอบเช็คให้โจทก์เป็นมัดจำที่จ้างโจทก์เพาะต้นไม้ ต่อมาโจทก์ไม่ส่งต้นไม้ให้แก่จำเลย จึงไม่มีมูลหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินตามเช็คให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คตามเอกสารหมาย จ.๑ เพราะจำเลยที่ ๒ สลักหลังเช็คดังกล่าวแล้วมอบให้โจทก์หลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เอกสารหมาย จ.๑ แล้ว เช็คตามเอกสารหมาย จ.๑ ซึ่งมีรายการครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๘๘ ก็ยังเป็นเช็คตามความหมายแห่งมาตรา ๙๘๗ และจำเลยที่ ๑ ผู้สั่งจ่ายจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตามมาตรา ๙๐๐ ประกอบด้วย มาตรา ๙๘๙ เมื่อจำเลยที่ ๒ เอาเช็คดังกล่าวมาแลกเงินจากโจทก์ และสลักหลังมอบเช็คนั้นให้โจทก์ โจทก์จึงเป็นบุคคลผู้มีเช็คไว้ในความครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับสลักหลัง โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คเอกสารหมาย จ.๑ ตามมาตรา ๙๐๔ เมื่อเช็คดังกล่าวเป็นเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้สลักหลังย่อมเป็นประกัน (อาวัล) สำหรับจำเลยที่ ๑ ผู้สั่งจ่าย และมีความรับผิดเป็นอย่างเดียวกับบุคคลซึ่งตนประกันตามประมวลกฎหมายซึ่งแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๙๒๑, ๙๔๐ ประกอบด้วยมาตรา ๙๘๙ และจะต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายรับผิดตามเช็คเอกสารหมาย จ.๑ ต่อโจทก์ตามมาตรา ๙๖๗ ประกอบด้วยมาตรา ๙๘๙ แม้จำเลยที่ ๒ จะสลักหลังเช็คดังกล่าวหลังจากที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นแล้ว ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ ๒ หลุดพ้นจากความรับผิดตามเช็คนั้นต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับผิดตามเช็คเอกสารหมาย จ.๑ นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยและที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์มิได้ฟ้องโดยอาศัยบันทึกการรับเงิน เอกสาร จ.๒ เป็นหลักแห่งข้อหาด้วยซึ่งศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา เพราะเป็นปัญหาเรื่องการแปลคำฟ้องนั้น เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดตามเช็คเอกสารหมาย จ.๑ ปัญหาดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share