แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์แสดงความประสงค์ลาออกจากงานต่อจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 โดยให้มีผลวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 แม้จะเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายยินยอม แต่ในระหว่างสัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับนายจ้างและลูกจ้างยังคงมีนิติสัมพันธ์ต่อกันจนกว่าสัญญาจ้างแรงงานจะสิ้นผล เมื่อโจทก์จงใจทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายและประมาททำให้จำเลยที่ 1 เสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 ก่อนถึงวันที่การลาออกมีผลได้หาใช่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิให้โจทก์ออกจากงานก่อนครบกำหนดตามความประสงค์ที่โจทก์ได้แสดงเจตนาลาออกแต่อย่างใดไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าชดเชย 211,600.80 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 6,171.69 บาท และค่าจ้าง 1,763.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง เงินเพิ่มของค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าจ้าง ทุกระยะเจ็ดวันนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 กับร่วมกันชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,858.45 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 6,982,800 บาท และค่าเสียหายจากการเสียชื่อเสียง 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบส่วนนายจ้าง 40,128.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานภาค 2 โจทก์ขอถอนฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานภาค 2 อนุญาต
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 380,879 บาท (ค่าชดเชย 211,600 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,858 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 6,171 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 132,250 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 217,771 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 30,858 บาท นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า การที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ออกจากงานก่อนถึงวันที่โจทก์ประสงค์จะลาออกถือว่าเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ยื่นหนังสือลาออกลงวันที่ 7 เมษายน 2552 โดยให้มีผลวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 ถือว่าโจทก์สมัครใจลาออก ไม่ใช่การเลิกจ้าง จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในส่วนค่าจ้างที่ให้โจทก์ออกก่อนครบกำหนดลาออกเท่านั้น เห็นว่า การที่โจทก์แสดงความประสงค์ลาออกจากงานต่อจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 โดยให้มีผลวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 ย่อมเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติ แต่ในระหว่างระยะเวลาที่สัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่นั้น นายจ้างและลูกจ้างยังคงมีนิติสัมพันธ์ต่อกันจนกว่าสัญญาจ้างแรงงานจะสิ้นผล สำหรับคดีนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างมีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง เนื่องจากโจทก์กระทำการจงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย และกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงเท่ากับจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์แล้ว หาใช่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิให้โจทก์ออกจากงานก่อนครบกำหนดตามความประสงค์ที่โจทก์ได้แสดงเจตนาลาออกแต่อย่างใดไม่ ซึ่งเมื่อจำเลยที่ 1 อ้างเหตุเลิกจ้างโจทก์ไว้ในหนังสือเลิกจ้างว่าโจทก์กระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานภาค 2 รับฟังมาได้ความว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิจารณาวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ค่าเช่าบ้านเป็นค่าจ้างหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในทำนองว่า ค่าเช่าบ้านเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายแก่โจทก์ เพื่อเป็นสวัสดิการ จึงมิใช่ค่าจ้างนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเช่าบ้านให้โจทก์โดยจ่ายในอัตราเท่ากันทุกเดือน แต่ในการพิจารณาว่าค่าเช่าบ้านเป็นค่าจ้างหรือไม่ต้องพิจารณาที่วัตถุประสงค์ในการจ่ายเงินดังกล่าว เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเช่าบ้านโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือพนักงานตามข้อบังคับการบริหารงานบุคคล โดยถือเป็นเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ตามบทที่ 5 สวัสดิการและเงินช่วยเหลือ ข้อ 5 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีวัตถุประสงค์ในการจ่ายค่าเช่าบ้านเพื่อเป็นสวัสดิการแก่โจทก์ ค่าเช่าบ้านจึงมิใช่ค่าจ้าง จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าชดเชยเพียง 174,799 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 25,491.55 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 5,098 บาท อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 ในส่วนดอกเบี้ยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานภาค 2 กำหนดดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยและเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในอัตราที่ไม่ถูกต้องและกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่เลิกจ้างไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง กำหนดให้กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าชดเชย ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ดังนั้น เมื่อค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นค่าจ้างตามนิยามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับวันผิดนัดอันเป็นวันเริ่มคิดดอกเบี้ยผิดนัดนั้น ค่าชดเชยคิดได้นับแต่วันเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างต้องจ่ายภายในสามวันนับแต่วันเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 วรรคท้าย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นายจ้างต้องจ่ายนับแต่วันทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามจำเลยให้ชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในวันใด จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายดอกเบี้ยในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าชดเชย 174,799 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2552 ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 5,098 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2552 สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 25,491.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2552 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2